บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Meatingplace นิตยสารอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ ฉบับเดือนตุลาคม 2564 เป็นบทสัมภาษณ์คุณ Mark Lauritsen รองประธานสหภาพแรงงานอาหารและการค้า (United Food and Commercial Workers-UFCW) ประเทศสหรัฐอเมริกาและประธานสหพันธ์แรงงานอาหารระหว่างประเทศ (IUF)  คุณมาร์คพูดถึงการต่อสู้ของคนงานแปรรูปเนื้อ ประวัติส่วนตัว บทบาทในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และความหมายที่แท้จริงของเสรีภาพในการรวมกลุ่ม

ผู้นำทางความคิด

Peter Thomas Ricci

การต่อรองอย่างหนัก

มาร์ค ลอริทสัน จากสหภาพแรงงาน UFCW ปกป้องสิทธิของคนงานโรงงานเนื้อสัตว์ และในกระบวนการนี้ก็ปกป้องอนาคตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ด้วย

ในงานเขียนของ Adolph Reed Jr. นักวิทยาศาสตร์ทางการเมือง นักวิชาการและนักจัดตั้งได้เน้นย้ำถึงคุณค่าของการกระทำร่วมเป็นหมู่คณะ  การรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่เรื่องนามธรรมและท่าที แต่เป็น “การเมืองที่นำผู้คนที่ตระหนักถึงปัญหามารวมตัวกัน” Reed กล่าว และ “สร้างแนวทางและเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขปัญหา” คือ “การเมืองที่มาจากผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกัน”

นั่นคือแนวคิดที่มาร์ค ลอริทสันนำมาใช้ในการทำงานกับสหภาพแรงงาน UFCW ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายแปรรูป บรรจุภัณฑ์และผลิตเนื้อสัตว์ของสหภาพแรงงาน มาร์ค ลอริทสันเป็นตัวแทนของแรงงานบรรจุเนื้อสัตว์และแปรรูปเนื้อจำนวน 260,000 คนและเป็นตัวแทนเจรจากับบริษัทแปรรูปเนื้อ ประสบการณ์การเป็นแรงงานรุ่นที่สองของบริษัทนั้นอยู่ในใจเสมอ เขาเป็นบุตรชายของคนงานโรงงานผลิตเนื้อวัวในเมืองสเปนเซอร์ รัฐไอโอวา เขาเริ่มต้นทำกระดูกแฮม ต่อมาก็ทำงานที่โรงฆ่าสัตว์ บริษัทวิลสัน ฟูดส์ ในเชอโรกี รัฐไอโอวา

มาร์ค ลอริทสันประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองให้แก่สมาชิกสหภาพแรงงาน UFCW เมื่อปี 2020 เขาได้เจรจากับทั้งบริษัทคาร์กิลล์และเจบีเอสอเมริกาให้จ่าย “ค่าเสี่ยงภัย” ถาวรตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรกจนถึงปัจจุบัน คนงานบางคนเห็นว่าค่าจ้างสูงขึ้น เช่นที่โรงงานกรีลีย์, โคโล ของเจบีเอส ซึ่งตอนนี้จ่ายอยู่ระหว่าง 21.75-28.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

ขณะนี้มาร์ค ลอริทสันมีเป้าหมายทำงานแตกต่างจากเดิมคือ เขาทำงานร่วมกับบริษัทแปรรูปเนื้อเพื่อปรับปรุงชื่อเสียงของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และแก้ปัญหาคนออกจากงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องจ้างใหม่เรื่อยๆ การรักษาอุตสาหกรรมที่ดำเนินมาแล้วหนึ่งรุ่น ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Meatingplace Lauritsen ยังได้อธิบายวิสัยทัศน์ของเขาด้วย

ผู้สัมภาษณ์: ประสบการณ์ในโรงงานเนื้อสัตว์ในอดีตของคุณบอกถึงการทำงานสหภาพแรงงานของคุณในปัจจุบันอย่างไร?

มาร์ค ลอริทสัน: ผมคิดเรื่องนี้บ่อยมาก — งานที่สมาชิกของเราทำแท้จริงนั้น สิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขา คือ ครอบครัวของพวกเขา [และ] ชุมชน แม้ว่าตอนนี้ผมจะมีตำแหน่งสูง แต่ก็มีจุดหนึ่งในชีวิตในขณะที่ผมเดินไปยังโรงฆ่า [และคิด] ‘นี่คืออาชีพของผม’ คุณจะทำให้อาชีพของคุณสร้างประสบการณ์ที่ดีเท่าที่เป็นไปได้อย่างไร? สิ่งที่กระตุ้นผมในวันนี้คืองานทำให้คนมีคุณค่า มันไม่ใช่แค่เรื่องเช็คเงินเดือน มันให้คุณค่าแก่คนทำงาน [ดังนั้น] คุณจะทำให้งานนี้ดีที่สุดสำหรับสมาชิกที่ไปทำงานในสภาพที่ยากลำบากทุกวันได้อย่างไร?

เคยมีเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมก่อนจะมาเป็นลูกจ้างในโรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ แม่และพ่อของผมทำงานที่บริษัทสเปนเซอร์ฟูดส์ เมื่อปี 1977 และพวกเขาถูกนายจ้างปิดงาน ตอนนั้นผมกำลังเรียนมัธยมต้นหรือไม่ก็มัธยมปลาย พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการปิดงานของนายจ้าง การปิดงานและข้อพิพาทแรงงานนั้นกินเวลานานหลายปี

การได้เห็นอำนาจนั้นกระทำกับคนงานที่แค่พยายามหาเลี้ยงชีพ – และกระทำกับครอบครัว ชุมชน – การใช้ชีวิตในวัยหนุ่มของผมได้รับผลกระทบอย่างมาก…เมื่อถึงเวลาที่ตกลงกันได้ ผมกำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายต่างประเทศของสหภาพแรงงาน และเป็นตัวแทนร่วมประชุมสหภาพแรงงานเมืองสเปนเซอร์ รัฐไอโอวา เพื่อลงคะแนนให้กับข้อตกลงของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติที่ตกลงกันได้  ข้อพิพาทแรงงานนั้นกินระยะเวลายาวนานถึง 12 หรือ13 ปีเลยทีเดียว

ผู้สัมภาษณ์: คุณมีแนวทางอย่างไรในการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาจ้างกับบริษัทแปรรูป?

มาร์ค ลอริทสัน: แนวทางของผมคือ ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ ผมโชคดีมากที่ผู้นำสหภาพแรงงานในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ของเราที่ทำงานร่วมกับผมล้วนมีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบรรจุและแปรรูปเนื้อ มันไม่ใช่ความคิดนามธรรม มันเป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้ และเรารู้เศรษฐศาสตร์ธุรกิจด้วย

ผม [ยัง] เชื่อว่าถ้าเรายังคงพูดคุยถกเถียงกัน – และถกกันมากขึ้น – เราสามารถทำข้อตกลงที่ [ดี] ทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง แต่มีขีดจำกัด — ที่บริษัทแปรรูปรู้ดีเช่นกัน — ที่เราจะไม่ข้ามเส้น หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย สิทธิมนุษยชนและเรื่องในทำนองเดียวกัน เราทำให้นายจ้างตระหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างความสัมพันธ์และพูดคุยถกเถียงกันมากและยาวนาน

ทั้งหมดนี้ก็ได้นำไปสู่การเจรจาต่อรอง [และ] เราใช้แนวทางที่สมาชิกของเราต้องการจริงๆ เพราะสมาชิกในเมือง Souderton, Pa. อาจต้องการสิ่งที่แตกต่างไปจากสมาชิกในเมือง Worthington, Minn. หรือเมือง Skylark, Neb. เราจึงเน้นความต้องการของสมาชิก รู้ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับสมาชิกคืออะไรและเจรจาข้อตกลงให้ตรงกับความต้องการของสมาชิก…. ย้อนกลับไปจุดที่ผมเริ่มต้น – เราจะทำให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจกับงานที่ตนเองทำได้อย่างไร

ผู้สัมภาษณ์: สหภาพแรงงาน UFCW ใช้แนวทางใดในการรับมือปัญหาการดึงดูดใจคนให้เข้ามาทำงานในโรงงานเนื้อสัตว์?

มาร์ค ลอริทสัน: เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมนี้มีปัญหารุนแรงในเรื่องการรักษาจำนวนคนทำงานที่มีอยู่และหาคนงานใหม่ให้เข้ามาทำงานก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ผมคิดว่าโควิดดึงดูดคนมาทำงานยากขึ้นมาก – อาจไม่ใช่การรักษางาน แต่เป็นการดึงคนเข้ามาทำงาน…. อุตสาหกรรมนี้จะต้องตระหนักว่า การดึงคนและรักษาคนงานเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ

ประการแรก คุณต้องจ่ายค่าจ้างที่ดีและมั่นคง หากคุณจะดึงคนงานให้มาทำงานในโรงงานบรรจุเนื้อสัตว์ ค่าจ้างจะต้องสามารถดึงดูดคนได้มากพอ — มากกว่าที่คุณต้องการจริงๆ เพราะมีคน [ที่ยังไม่ได้] คัดออกจากงานและมีคนงานจำนวนหนึ่งที่จะลาออกแต่เนิ่นๆ

สำหรับการดึงคนมาทำงาน ผมหวังว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นตามที่เราเรียกร้อง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการดึงคน อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าเราทำสำเร็จในเรื่องค่าจ้าง หรือมาถึงจุดที่สามารถดึงคนให้เข้ามาทำงานบรรจุเนื้อสัตว์เมือง Sioux City รัฐไอโอวาได้ หมายความว่าตัวเลขค่าจ้างที่เราต้องการจริงๆ คิดว่าอัตราค่าจ้างพื้นฐาน 18 เหรียญนั้นไม่มากพออย่างที่เราต้องการ และผมไม่รู้ว่ามันควรเป็นเท่าไหร่ บางทีในอนาคตอันใกล้ อัตราค่าจ้างพื้นฐานนั้นอาจอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

วารสาร: แล้วการรักษาจำนวนพนักงานล่ะ?

มีหลายเรื่องเกิดขึ้น อุตสาหกรรมนี้มีชื่อเสียงอยู่อย่าง และชื่อเสียงนั้นมาจากการต่อสู้ที่ยาวนานในยุค 80 และต้นยุค 90 —คือเป็นงานได้ค่าจ้างน้อยและงานอันตราย ซึ่งเราต้องร่วมกันแก้ไขชื่อเสียนี้ ที่ผมบอกว่า ‘เรา’ — หมายถึงสหภาพแรงงาน UFCW ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในระดับท้องถิ่นกับนายจ้างด้วย … เราควรทำอย่างไรให้งานนี้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราทำได้ [และ] ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราสามารถร่วมมือกันเพื่อให้สถานที่ทำงานปลอดภัยยิ่งขึ้น

ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ผมทำงานในโรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ คำว่า ‘อาการนิ้วล็อก’ และ ‘อาการบาดเจ็บเนื่องจากเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ’ ไม่ใช่เรื่องปกติ [วลี] ที่คุณได้ยิน คุณอาจมีอาการบาดเจ็บหนึ่งหรือสองครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ แล้วมันผิดปกติตรงไหน? ลองเข้าไปดูที่ความเร็วของไลน์ผลิต [ของวันนี้] จำนวนพนักงาน เมื่อดูภาพรวมจากองค์ประกอบที่กล่าวมา เรามาถึงจุดที่คนงานต้องทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ หรือลักษณะคล้ายๆ กัน ได้อย่างไร

[พนักงานใหม่] ทำงานเต็ม 100% ตั้งแต่วันแรก แทนที่จะฝึกพวกเขาให้เข้ากับงานก่อน ฝึกทำความเร็วสายพานช้าๆก่อน ฝึกความแข็งแกร่ง และให้พวกเขาชินกับงาน จากนั้นค่อยให้ทำงานเต็มที่ แต่ปัญหาของอุตสาหกรรมคือพวกเขาสั่งงานคนใหม่ด้วยความเร็วเต็มที่ในวันแรก และร่างกายรับไม่ได้ อัตราการลาออกเนิ่นๆอย่างน้อยควรจะต่ำลงกว่านี้นับแต่วันแรกที่ทำงานจนเป็นเวลาขวบปี ร่างกายคนทำงานเริ่มเสื่อมโทรม ทำให้เกิดชื่อเสียงภาพลักษณ์ไม่ดีกับอุตสาหกรรม หากใครสักคนกำลังเข้าสู่วัยทำงาน นี่จะไม่ใช่ที่แรกที่เขาจะทำ เราจะแก้ไขอย่างไร? ก็เปลี่ยนชื่อเสียนั้นซะ

ผู้สัมภาษณ์: บริษัทแปรรูปสามารถเปลี่ยนแปลงชื่อเสียด้วยวิธีใดบ้าง

มาร์ค ลอริทสัน : ผมเพิ่งได้พูดคุยกับนายจ้างรายหนึ่ง วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้ความเคารพคนงาน ผมไปเยี่ยมโรงงานตลอดเวลา และดูผู้จัดการโรงงานลงไปในพื้นที่โรงงาน และส่วนใหญ่ [มี] ความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานของพวกเขา [พวกเขามี] การพูดคุยกัน คนงานมีส่วนร่วม และมักจะชอบผู้จัดการโรงงาน

แต่ [การเปลี่ยนแปลงนั้น] เมื่อเราใช้ระบบการจัดการที่แย่กว่า โดยผู้จัดการโรงงานสั่งงานลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ‘เราต้องเร่งเอาสินค้า ต้องให้ได้เดี๋ยวนี้’ แล้วหัวหน้าแผนกก็พูดกับหัวหน้างานทั่วไปว่า ‘เราต้องเร่งเอาสินค้า ต้องให้ได้เดี๋ยวนี้’ จากนั้นเขาก็เดินไปสั่งหัวหน้าไลน์ผลิตว่า ‘เราต้องเร่งเอาสินค้า ต้องให้ได้เดี๋ยวนี้” แรงกดดันทั้งหมดก็ตกกับตำแหน่งล่างสุด เพราะหัวหน้าไลน์ไม่มีใครที่จะให้ตะโกนใส่ยกเว้นคนงาน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีระดับของการฝึกอบรมตลอดสายการบังคับบัญชา ควรมีการอบรมให้เคารพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มตั้งแต่หัวหน้าไลน์  โฟร์แมนคุมงาน และหัวหน้าแผนกเพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่ไล่ [คนงาน] ออก

เรามักได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าห้องน้ำระหว่างทำงานอยู่บ่อยๆ  ปัญหานั้นเกิดจากแรงกดดันในการผลิต… [A] และเมื่อคนงานขอไปเข้าห้องน้ำ [หัวหน้าแผนก] กล่าวว่า ‘ตอนนี้ไม่มีใครมาแทนคุณ ดังนั้นคุณจะต้องทำงาน’ นั่นเป็นเรื่องของความเคารพ นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ซึ่งมีระดับการฝึกอบรมแตกต่างกัน แต่ควรปฏิบัติต่อกันเยี่ยงมนุษย์ ปฏิบัติต่อกันเหมือนที่คุณต้องการให้เขาปฏิบัติเยี่ยงนั้น ถ้านำองค์ประกอบทั้งสามนี้มารวมกัน ผมคิดว่าเราเปลี่ยนชื่อเสียได้

ผู้สัมภาษณ์: สหภาพแรงงาน UFCW มีจุดยืนต่อการผลิตเนื้อสัตว์ด้วยระบบอัตโนมัติอย่างไร?

มาร์ค ลอริทสัน: ผมกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับการนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม…. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้เมื่อไม่มีแรงงานจำนวนมาก [บริษัทแปรรูป] ก็เสนอให้นำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงานและเสนอกับชุมชนว่า ‘เรากำลังจะนำเครื่องจักรชิ้นนี้มาใช้และจะไม่มีใครตกงาน เราแค่จะย้ายพวกเขาไปทำงานส่วนอื่นเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือคุณยังไม่เห็นผลกระทบในทันทีหรอก ดังนั้น คุณต้องมองย้อนหลังและสังเกตว่าระบบอัตโนมัติทำอะไรไปบ้าง ถ้าคุณมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในโรงงานบางแห่ง คุณจะพบว่าโรงงานแห่งหนึ่งเคยมีคนทำงาน 1,200 คน มาตอนนี้เหลือ 1,000 คน ตำแหน่งงานหายไป 200 ตำแหน่ง แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นจริงจังเพราะมันมีรอยแหว่งเล็กๆ ตรงนี้ที ตรงนั้นที

ในบางกรณี เครื่องจักรอัตโนมัติมีข้อดีคือทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยขึ้น … แต่ก็ทำให้คนตกงานตามมาเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราต้องแก้ไข และเป็นสิ่งที่ผมกังวลด้วย…. เมื่อคุณปลดคน 200 คนในชุมชนออกจากงาน อย่างในเมืองเดนิสัน รัฐไอโอวา ในช่วงห้าปีนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชุมชน

สิ่งที่ผมต้องการเห็น เมื่อเรามีเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาในโรงงาน จะต้องไม่มีการสูญเสียตำแหน่งงานใดๆ ระบบอัตโนมัติจำเป็นต้องถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน ไม่ใช่การเพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนด้านแรงงาน การสร้างความยั่งยืนยังมาจากการที่พวกเราควรมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม อุตสาหกรรมนี้ก็ควรมีความรับผิดชอบต่อชุมชน ที่ๆ พวกเขาทำธุรกิจเพื่อค้ำจุนชุมชนนั้น

ดังนั้น ระบบอัตโนมัติจะดีต่อสังคมหากใช้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราต้องพิจารณาว่าระบบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกรายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานนั้นอย่างไร ถ้าไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เราจะสูญเสียคนทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ปัญหาการดึงดูดและการรักษาจำนวนคนทำงานแย่ลงไปอีก เมื่อผู้คนย้ายออกจากเมืองเล็กๆ เหล่านี้ คุณต้องดึงดูดใครสักคนให้กลับมา การดึงแรงงานในท้องถิ่นจะง่ายกว่ามาก ถ้าเราทำถูกต้อง อย่าใช้ระบบอัตโนมัติมาทำลายแรงงาน

ผู้สัมภาษณ์: คุณเข้าหาคนงานผลิตโปรตีนทางเลือก (alt-meat) อย่างไร? จากคนงานผลิตโปรตีนจากพืชไปจนถึงคนงานผลิตโปรตีนสังเคราะห์ คุณจัดตั้งแรงงานในพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร

มาร์ค ลอริทสัน: เราคือตัวแทนของใครก็ตามที่ทำงานในอุตสาหกรรมโปรตีน [ดังนั้น] นักจัดตั้งสหภาพแรงงานของเราจะพูดคุยกับคนงานผลิตโปรตีนทางเลือก [alt-meat] เมื่อพูดถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ผมยังคงมองว่าเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน คือ หากบริษัทผลิตโปรตีนทางเลือกและ Impossible Foods ที่หันมาสนใจอุตสาหกรรมโปรตีนประเภทนี้… พวกเขาต้องจ่ายค่าจ้างให้คนงานและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ บริษัทต้องเสนอผลประโยชน์ที่ดี รวมทั้งต้องเสนองานที่ยั่งยืน

ทุกอย่างเริ่มต้นจากประเด็นสิทธิมนุษยชน … โลกมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สองและคนได้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ผิดพลาด องค์การสหประชาชาติได้ออกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน [และ] สิทธิมนุษยชนสากลข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกต่อต้าน… ดังนั้น ขณะที่คุณมองย้อนกลับไป… ผมรู้จักผู้ผลิตโปรตีนทางเลือก [และ] พวกเขาชอบคิดว่าตัวเองก้าวหน้ากว่าคนอื่น ๆ ทำเงินได้มากกว่า แต่พวกเขาก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

งานของเราคือทำให้พวกเขาไม่สามารถหนีพ้นเรื่องนี้ไปได้.. สิทธิที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุด เมื่อพูดถึงงาน ทุกอย่างจะพ่วงมาด้วย เช่น ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่ดี สถานที่ทำงานมั่นคง ทั้งหมดนี้มาจากการใช้สิทธิมนุษยชน จึงต้องช่วยกันปกป้อง ดังนั้น เมื่อพูดถึงผู้ผลิตโปรตีนจากพืช หากคุณจะเข้ามาเล่นในอุตสาหกรรมนี้ เราจะมาหาคุณ เราจะมาพูดคุยกับพนักงานของคุณ และเราคาดหวังว่าคุณจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขา