“ถ้าคุณไม่รู้สึกโกรธ แสดงว่าคุณยังไม่ใส่ใจมากพอ!”

สำนวนดังกล่าวเหมาะสมอย่างยิ่งกับประชาคมนานาชาติที่ไม่กระตือรือร้นในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ปราบปรามประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายในประเทศพม่าในปัจจุบัน ทั้งที่นักข่าวและนักปกป้องสิทธิได้ผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่ประชาคมโลกนอกประเทศพม่ากลับไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารในพม่า ประชาชนพม่าได้ร่วมกันประท้วงเงียบทั้งประเทศ ส่งผลให้ถนนหนทางและบ้านเมืองเงียบเชียบว่างร้าง ประชาชนที่ร่วมประท้วงมาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ภาษา และพื้นที่พักอาศัย ทั้งในเมืองและชนบท พวกเขาต่างร่วมประท้วงกร้าวด้วยความเงียบ หลบซ่อนตัวอย่างเปิดเผย

ช่างเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งที่ประชาคมนานาชาติกลับไม่ตอบสนองใดใดต่อความกล้าหาญดังกล่าวของประชาชนพม่าจากขอบเขตอำนาจของตน แทนที่ประชาคมนานาชาติจะส่งเสียง ร่วมประณามบริษัทที่ทำการค้าการลงทุน ซึ่งหล่อเลี้ยงกองทัพพม่าและสภาบริหารแห่งรัฐของพม่า (State Administration Council,SAC ) ที่ขาดความชอบธรรมและกระทำการผิดกฎหมาย ประชาคมนานาชาติกลับเพิกเฉยด้วยความเงียบครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้ว่าประชาคมนานาชาติอาจจะไม่เข้าใจความหมายที่สำคัญของการประท้วงเงียบอันกล้าหาญในวันที่ 1 กุมภาที่ผ่านมา แต่ทว่าสภาบริหารแห่งรัฐพม่ารู้ซึ้งเป็นอย่างดี ความเงียบที่ระงมไปทั่วทั้งประเทศนั้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากกองทัพติดอาวุธ กลุ่มอันธพาลเริงเมือง และเหล่าพันธมิตรนักธุรกิจแล้ว สภาบริหารแห่งรัฐจากเผด็จการพม่าไม่ได้มีอำนาจหรือความชอบธรรมใดใดในสายตาของประชาชนพม่าแม้แต่น้อย

การประท้วงเงียบนี้ส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการวิตกจริตและขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการใช้ความรุนแรงกับนักกิจกรรมประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิต่าง ๆ ระลอกคลื่นของการกวาดล้าง ปราบปราม และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

เผด็จการทหารเคลื่อนขบวนฉลองที่น่าอนาถไปตามท้องถนนว่างเปล่า แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอมากกว่าความเกรียงไกร

นอกจากนี้ เผด็จการทหารพม่ายังได้รู้ซึ้งว่าการประท้วงเงียบโดยถ้วนหน้าของประชาชนนี้ สามารถนำไปสู่การบ่อนทำลายแผนการเลือกตั้งบังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ได้

เป้าหมายของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็เพื่อแสดงให้ประชาคมนานาชาติเห็นว่าประเทศพม่ากำลังมี “กระบวนการกลับคืนสู่” ประชาธิปไตย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลหลายๆประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปให้กลับมาทำการค้ากับสภาบริหารแห่งรัฐอีกครั้ง ฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้จึงเป็นภาพฝันของเผด็จการทหารว่าจะช่วยผ่อนปรนการคว่ำบาตร และภาวะชะงักความมั่งคั่งของหัวหน้ากองทัพให้กลับคืนสู่ “การทำธุรกิจอย่างเป็นปกติ”

อย่างไรก็ตาม การประท้วงเงียบที่เกิดขึ้นได้ทลายภาพฝันลงสิ้น มีแนวโน้มว่าประชาชนจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งบังหน้าครั้งนี้อย่างราบคาบ เผด็จการทหารจึงได้เพิ่มมาตรการปราบปรามประชาชนอย่างเข้มงวดขึ้นอีก

ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมนานาชาติต้องลุกขึ้นมาตอบสนองกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการประณามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในฐานะการกระทำหลอกลวงที่ผิดกฎหมาย และต้องต่อต้านการให้ความชอบธรรมกับสภาบริหารแห่งรัฐที่มาจากกองทัพพม่า และลิ่วล้อนักธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพทั้งหมด

ประชาคมนานาชาติต้องสนับสนุนและให้การยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (National Unity Government,NUG) ในฐานะที่เป็นรัฐบาลจากประชาชนที่มีความชอบธรรม การสนับสนุนนั้นทำได้โดยการกดดันและส่งเสริมให้รัฐบาลของท่านช่วยเหลือ ยอมรับ และสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับในแง่การฑูต หรือในการทำงานของแต่ละภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ

หากท่านใส่ใจและโกรธแค้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ขอให้ท่านกดดันและท้าทายรัฐบาลมือถือสากปากถือศีลในประเทศของท่านที่อ้างว่าสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า แต่กลับยอมให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับประเทศพม่าอยู่ ซึ่งการติดต่อค้าขายเหล่านี้เป็นการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ “ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดนอกจากความผิดพลาด”

หากกระทรวงการต่างประเทศของท่านยอมรับ “กระบวนการกลับคืนสู่” ประชาธิปไตย ดังที่รัฐบาลเผด็จการกล่าวอ้าง ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่มีวันเกิดขึ้น มีเพียงการแลกเปลี่ยนค้าขายกับพันธมิตรของกองทัพเท่านั้นที่จะเกิด

นอกจากนี้ เราไม่สามารถเอาประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชนพม่ามาเป็นตัวประกันให้กับ “ยุทธศาสตร์” ในการขยายระยะเวลาของสงครามในยูเครน หรือมาใช้ในการต่อรองเรื่องความจำเป็นทางพลังงาน หรือความมั่นคงทางอาหารได้ เพราะเกษตรกรและคนทำงานในไร่นาต่างเข้าร่วมการประท้วงเงียบเช่นกัน เหตุใดสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆยังคงนำเข้าข้าวและผลผลิตทางการเกษตรจากพม่าอยู่อีก เหตุใดพวกเขายังคงทำให้วิกฤตการณ์ทางมนุษยชาติเช่นนี้ “เป็นเรื่องปกติสามัญ”

การกระทำหรือความพยายามใดก็ตามที่มาจากกระทรวงหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่ยังคงทำการค้าขายลงทุนกับประเทศพม่าล้วนเป็นการชี้นำให้เกิดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหมายถึงเป็นการก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น

1 กุมภาพันธ์ 2566 ประชาชนพม่าทั้งประเทศส่งเสียงผ่านความเงียบมาแก่เราแล้ว เราต้องขานรับ เป็นเดือดเป็นร้อน และลุกขึ้นมาสนับสนุน