เป็นที่รู้กันดีว่า การคุ้มครองทางสังคม[1] (social protection) เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนทำงานได้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตน ช่วยรับประกันว่าคนทำงานจะมีรายได้คงที่ และได้ทำงานที่มีความปลอดภัย

การคุ้มครองสังคมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับคนทำงานภาคการประมงขนาดเล็ก เกษตรกรรม เกษตรกรชายขอบ  อาชีพอิสระ  รวมทั้งผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อคนทำงานเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะเปราะบางในทางกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พวกเขาจะต้องการการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สภาวะเปราะบางในมิติต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบก็จะทำให้พวกเขาเข้าถึงกลไกการคุ้มครองทางสังคมได้น้อยลง

ประเด็นเรื่องความเปราะบางและการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมที่มีลักษณะผกผันเช่นนี้ พบได้ทั่วไปในคนทำงานหลากหลายสาขาอาชีพและภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลักฐานสนับสนุนว่า มักพบในคนทำงานอิสระและคนทำงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหาดังกล่าวไม่ใช่การเรียกร้องให้เพิ่มการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น เพราะในกรณีของคนทำงานภาคการประมงนั้น จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองทางสังคมเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องสิทธิ และกระบวนการจัดสรรทรัพยากรด้วย กล่าวคือ  การให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่คนทำงานในภาคการประมง หรือ ภาคการเกษตรจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อพวกเขาได้เข้าถึงสิทธิ ได้รับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดสรรทรัพยากร

นอกจากนี้ การให้คนทำงานผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ก็ส่งผลให้การคุ้มครองทางสังคมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยลดปัญหาความยากจน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนทำงานอีกด้วย กล่าวคือ กระบวนการตัดสินใจนั้นต้องไม่เป็นไปโดยการให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในเชิงสัญลักษณ์​หรือในลักษณะที่แน่นิ่ง (passive) เท่านั้น (เช่น การนำผู้หญิงมาเป็นเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคม)  หรือนำเอาแต่มุมมองเรื่องเพศและมิติเรื่องเพศมาใช้เท่านั้น แต่ต้องให้ผู้หญิงได้เข้ามาร่วมกระบวนการด้วย ผู้หญิงจะต้องได้เข้าร่วมและได้นำเสนอความเห็น ปัญหาจากกลุ่มก้อนของตนเองไม่ว่าพวกเธอจะทำงานในสถานประกอบการหรืออาชีพใดก็ตาม ทั้งเรือกสวนไร่นา หรือในชุมชน และพวกเธอต้องได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ ตั้งแต่การวางแผน ไปจนถึงการนำหลักการหรือนโยบายปฏิบัติใช้ เพื่อให้การคุ้มครองทางสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาคอย่างแท้จริง

จึงกล่าวได้ว่าการคุ้มครองทางสังคมจะมีความหมายและประสิทธิภาพมากขึ้นก็ต่อเมื่อผู้หญิงได้มีส่วนรวมโดยตรง และได้นำเสนอเรื่องราวจากกลุ่มก้อนของตนเองในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรส่วนรวม การประเมินผลติดตาม รวมทั้ง การตรวจตราสอดส่องว่ามีความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมได้

ในทางกลับกัน หากกระบวนการตัดสินใจถูกครอบงำโดยผู้ชาย ความคุ้มครองทางสังคมมักจะมีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการจำกัดขอบเขตและการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติต่างๆ การใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมทั้งการทุจริต ซึ่งปัจจุบันปัญหาการทุจริตถือเป็นเรื่องแก้ไม่ตกที่บ่อนทำลายโครงการต่างๆ ของการคุ้มครองทางสังคมในประเทศภูมิภาคแถบนี้

นอกจากนี้ การสนับสนุนทรัพยากรแก่สถาบันต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างไม่เป็นระบบ ไม่มีความรับผิดชอบและไม่โปร่งใสให้ดำเนินการเรื่องการคุ้มครองทางสังคม มีแต่จะทำให้เกิดความล้มเหลวเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการให้ความคุ้มครองทางสังคม แต่ถึงที่สุดเราก็หนีไม่พ้นการกลับไปแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสถาบันอยู่ ซึ่งก็คือการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงและนำเสนอประเด็นจากกลุ่มก้อนของตนในกระบวนการตัดสินใจ

ตัวอย่างสำคัญเห็นได้จากประเทศอินเดีย ที่มีการคุ้มครองทางสังคมทำงานภายใต้กฎหมายคุ้มครองการจ้างงานชนบทแห่งชาติ (National Rural Employment Guarantee Act, NREGA)  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่เป็นเอกเทศ มีความเป็นประชาธิปไตย และจัดตั้งโดยกลุ่มผู้หญิง สหภาพเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ของกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงได้รับสิทธิต่างๆ จากกฎหมาย NREGA

ในขณะเดียวกันสหภาพแรงงานภายใต้การนำของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ก็จะดึงผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมาย เพื่อตรวจตราสอดส่องว่ามีการจัดสรรและกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

การที่ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นกลุ่มก้อนในกระบวนการตัดสินโดยตรง และ ได้นำเสนอเรื่องราวจากกลุ่มของตนนั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันของผู้หญิง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87  (รวมทั้งอนุสัญญาที่สำคัญอย่างฉบับที่ 11 141 177 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการจัดตั้งกลุ่มหรือสหภาพ ของคนทำงานภาคเกษตร คนทำงานในชนบท และคนที่รับงานไปทำที่บ้าน) กล่าวคือ ผู้หญิงสามารถรวมตัวกันภายใต้กลุ่มก้อนหรือองค์กรที่พวกเธอเลือก และเคลื่อนไหวประเด็นที่กลุ่มตนสนใจ รวมทั้งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อรองและตัดสินใจต่างๆได้ หากมีการกีดกันเสรีภาพในการรวมกลุ่ม หรือขัดขวางกลุ่มผู้หญิงไม่ให้มีส่วนรวม ย่อมทำลายประสิทธิภาพของนโยบายและโครงการต่างๆ ของการคุ้มครองทางสังคม

การกีดกันหรือขัดขวางคนทำงานผู้หญิง คนทำงานภาคเกษตรและภาคประมงในการจัดตั้งกลุ่มก้อนของตนเองยังทำให้ผู้หญิงมีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การคุ้มครองทางสังคมไม่ทั่วถึงและเปล่าประโยชน์

นอกจากนี้เรายังไม่ควรจัดสรรทรัพยากรและการคุ้มครองทางสังคมแก่อุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะคนทำงานในภาคประมง ทั้งที่อยู่บนเรือและในโรงงานล้วนได้รับค่าแรงยากจน[2] (poverty wage) ซึ่งมีแต่จะหล่อเลี้ยงให้พวกเขาและชุมชนยากจนต่อไปเท่านั้น โดยชุมชนชาวประมงเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่บริเวณที่ตั้งของแหล่งหาปลาเชิงพาณิชย์

จากการประชุมสภาชาวประมงระดับชาติของฟิลิปินส์ครั้งที่ 4 ในวันที่ 3 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาได้มีการเสนอวิธีการสร้างอำนาจให้กับชาวประมง ซึ่งสัมพันธ์กับการทำอุตสาหกรรมการประมงแบบยั่งยืน การประชุมดังกล่าววิเคราะห์ว่า ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการขาดการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน (การเข้าถึงอาหาร โภชนาการ ที่พักอาศัย การศึกษา และการให้บริการสุขภาพ) เป็นผลพวงโดยตรงจากค่าแรงยากจนที่มาจากภาคส่วนอุตสาหกรรมการประมงเชิงพาณิชย์

นายจ้างจากอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์เหล่านี้ มักจะขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานและละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มและรวมตัวต่อรองของคนทำงาน ซึ่งเป็นหลักการในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98  นายจ้างเหล่านี้เองเป็นตัวการสำคัญที่ขัดขวางคนทำงานประมงไม่ให้สามารถรวมตัวเพื่อต่อรองเรื่องค่าแรง ทั้งที่การเพิ่มค่าแรงจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาและครอบครัวให้พ้นจากความจนได้

ในการบรรลุเป้าหมายที่ให้คนทำงานได้มีค่าแรงที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องให้ความสำคัญกับการรวมตัวต่อรอง (collective bargaining) ของคนทำงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ รัฐบาลไม่ควรให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กดขี่สิทธิคนทำงานในด้านต่างๆ และหล่อเลี้ยงวงจรความยากจนเอาไว้

นอกจากนี้ เรายังจะเห็นอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ ละเมิดสิทธิเรื่องการทำงานอย่างปลอดภัยร้ายแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานนานาชาติฉบับที่ 155 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ในการประชุมสภาชาวประมงครั้งที่ 4 ที่ประเทศฟิลิปินส์ สมาชิกของชุมชนชาวประมงหลายคนได้เล่าถึงการอาการบาดเจ็บร้ายแรงต่างๆที่เกิดจากการทำงานที่ไม่ปลอดภัยของอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์

การทำงานที่ไม่มีความปลอดภัยเหล่านี้ส่งผลให้คนทำงานบาดเจ็บ และป่วยไข้โดยโรคต่างๆในระยะยาวได้ ตลอดจนเหตุทุพลภาพที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำงานได้ และสุดท้ายก็กลายเป็นภาระหนักให้กับโครงการการคุ้มครองทางสังคมอีก

ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญเห็นได้จาก สหภาพคนทำงานประมง BKMU ในประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นสมาชิกของเรา กล่าวคือ ก่อนหน้านี้สหภาพดังกล่าวมีความสามารถในการต่อรองราคารับซื้อสัตว์ทะเล ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตตนครอบครัวและชุมชน รวมทั้งคนทำงานข้ามชาติที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประเทศมัลดีฟส์ชุดก่อนหน้าได้ประกาศใช้กฎหมายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ฉบับใหม่ กฎหมายดังกล่าวได้คุกคามสิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้งและรวมตัวต่อรองของสหภาพ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สหภาพขาดอำนาจในการรวมกลุ่มต่อรอง และเกิดการผูกขาดการรับซื้อสัตว์ทะเลไว้กับบริษัทเพียงแห่งเดียว ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวสามารถกำหนดราคารับซื้อได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้รายได้ของสมาชิกสหภาพ BKMU ลดลง และชุมชนที่มีรายหลักจากการทำประมงยากจนขึ้น และเกิดปัญหาหนี้สินมากขึ้น

ฉะนั้นแล้ว การคุ้มครองทางสังคมจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ การให้ชาวประมงที่ทำงานในประมงพาณิชย์มีสิทธิรวมกลุ่มต่อรอง เพื่อกระจายผลกำไรของบริษัทมายังพวกเขา ไม่ใช่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐผ่านการคุ้มครองทางสังคมแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองทางสังคม ยังมีความจำเป็นในการนำไปใช้ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงขนาดเล็ก คนทำงานอิสระ และคนที่รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งชุมชนจับสัตว์ทะเลที่อาศัยตามชายฝั่งที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาเรื่องแรงงานเด็กในการประมงพื้นบ้านและการจับสัตว์ทะเลที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอีกด้วย

นอกจากนี้ ในการสร้างการคุ้มครองทางสังคมให้เกิดประสิทธิภาพ จะต้องพิจารณาประเด็นเรื่องความเปราะบางของชุมชนจับสัตว์ทะเลที่อาศัยตามชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเล และ การลดลงของจำนวนพันธ์ุสัตว์ทะเล  ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตและรายได้ของชาวประมง รวมทั้งความมั่นคงทางอาหารทะเล

อาจกล่าวได้ว่า การคุ้มครองทางสังคมจะเกิดประสิทธิภาพ จะต้องผนวกประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ มาไว้ในนโยบายและแผนปฏิบัติงานอย่างรอบด้านและอย่างเป็นระบบ ในเรื่องสิทธินั้น จะต้องควบรวมไปถึงเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกลุ่มชาวประมง และสิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารและโภชนาการ โดยรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชีวิตของชาวประมงอย่างจริงจังร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมักจะให้เงินอุดหนุนรวมทั้งกระจายทรัพยากรไปยังการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงสากล (distant water fishing, DWF) ซึ่งการประมงสากลนั้นส่งผลต่อการลดลงของจำนวนสัตว์ทะเล ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการจับสัตว์ทะเลต่อทั้งมหาสมุทร ในแง่นี้การประมงสากลจึงคุกคามวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาวประมง หากปัญหาการอุดหนุนเงินของรัฐให้กับการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่และการประมงสากลเหล่านี้ยังไม่ถูกพูดถึง จะทำให้ชุมชนชาวประมงตามชายฝั่งเกิดปัญหาความยากจน หนี้สิน และความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนประมงพื้นบ้านต่างๆ และชาวประมงชาติพันธุ์ สุดท้ายก็จะทำให้พวกเขาต้องการการคุ้มครองทางสังคมเพิ่มมากขึ้น (อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ฉะนั้นแล้ว ประสิทธิภาพของการคุ้มครองทางสังคมจะถูกทำลาย หากรัฐบาลยังมีการอุดหนุนเงินและทรัพยากรให้กับอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์เหล่านี้

ด้วยเหตุนี้เอง หากต้องการให้การคุ้มครองทางสังคมมี “การเปลี่ยนแปลงสีคราม”[3] (blue transformation) ในภาคส่วนการประมงอย่างเสมอภาค จะต้องมีการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมใหม่และตระหนักถึงสิทธิคนทำงานด้วย

ฉะนั้นแล้ว เราไม่ต้องการให้รัฐเพิ่มกองทุนการคุ้มครองทางสังคมเท่านั้น แต่เราต้องการให้รัฐหยุดอุดหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร อีกด้วย นอกจากนี้ เราต้องการให้การคุ้มครองทางสังคมให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมมากขึ้น โดยลดการอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ดูดกลืนและทำลายทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ เพิ่มการจัดเก็บภาษีบริษัทเหล่านี้และภาษีคนรวยให้มากขึ้น

สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า การคุ้มครองทางสังคมจะเกิดได้ จะต้องมาจากการกระจายความมั่งคั่งร่วมด้วย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เสมอภาคและยั่งยืนอย่างแท้จริง

[1] การคุ้มครองทางสังคม หมายถึง การจัดระบบหรือมาตรการรูปแบบต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ ไม่ว่าจะเป็นบริการสังคม การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคม  ปัจจุบันปประเทศไทยมีระบบความคุ้มครองทางสังคม 2 รูปแบบ ได้แก่ สวัสดิการทางสังคม เช่น เช่น การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน บัตรประชารัฐ บัตรสงเคราะห์ต่างๆ  และ ประกันสังคม

[2] ค่าแรงยากจน (poverty wage)  คือ  ค่าแรงที่มีมูลค่าไม่เพียงพอแก่ค่าครองชีพและความต้องการพื้นฐานของปัจเจกบุคคลในชีวิตประจำวัน และการอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้คนทำงานอาจงานนอกเวลา รับงานเสริม เกิดหนี้สิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ และชีวิตสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในชีวิต การคำนวนค่าแรงยากจน ค่าแรงยากจนสามารถคำนวนได้จากดูว่าค่าแรงที่ได้รับต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนหรือไม่

ค่าแรงยากจนสามารถประเมินได้ คือค่าแรงที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการแบ่งแยกคนจนและคนไม่จนออกจากกัน เพื่อรัฐบาลจะได้หานโยบายช่วยเหลือได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย  โดยบุคคลที่ดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนจน ในปี 2558 เส้นความยากจน มีค่าเท่ากับ 2,644 บาท ต่อคน ต่อเดือนเดือน อย่างไรก็ตามเกณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงว่า ไม่สามารถประเมินได้อย่างแม่นยำนัก

[3] การเปลี่ยนแปลงสีคราม (blue transformation) เป็นวิสัยทัศน์หนึ่งจากองค์การสหประชาชาติ ในส่วนงานของอาหารและเกษตรกรรม ที่มุ่งหมายให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและระบบอาหารจากท้องทะเลอย่างเท่าเทียม โดยกระจายโอกาสให้กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคมได้เข้าถึงอาหารทะเลที่มีโภชนาการและราคาจับต้องได้ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกลุ่มและชุมชนชาวประมงให้สามารถทำการประมงและการเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และสิ่งแวดล้อมทางทะเลไปด้วย