2 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา เราได้ทราบข่าวการจากไปของ เอลา อาร์ บัตต์ (Ela R. Bhatt) ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้หญิงทำงานอิสระ (Self-Employed Women’s Association,SEWA) ในประเทศอินเดีย  สหภาพแรงงาน IUF เอเชียแปซิฟิกและสมาชิกขอแสดงความเสียใจกับสมาคม SEWA มา ณ ที่นี้

ตลอดสามวันที่ผ่านมา สื่อกระแสหลัก องค์กรภาคประชาสังคม สหภาพแรงงานและโลกวิชาการได้

เผยแพร่บทความไว้อาลัยหลายพันชิ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เอลาเบ็น โดยยกย่องเธอที่อุทิศชีวิตให้กับการทำงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้หญิง ซึ่งมีคุณูปการต่อการเคลื่อนไหวด้านสิทธิและการเสริมพลังผู้หญิงอย่างมาก

คำสอน คุณค่าและข้อแนะนำหลายประการของเอลาเบ็น ยังก้องกังวาลในใจผู้หญิงทั่วโลก ปัจจุบันข้อเรียกร้องของเธอมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับใช้ภายใต้ภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ด้านอาหาร วิกฤติเศรษฐกิจโลก ตลอดจนโมงยามแห่งความหวาดหวั่นที่มาจากสงครามและความขัดแย้งรุนแรง เอลาเบ็นเรียกร้องให้ผู้หญิงมีบทบาทหลักในการร่วมสร้าง ร่วมกอบกู้ชุมชนท้องถิ่นของตน ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเชื่อมร้อยพลังของผู้หญิง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสันติภาพเข้าไว้ด้วยกันได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและปราศจากความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้

นอกจากเอลาเบ็นจะอุทิศตนทำงานด้านสิทธิผู้หญิงแล้ว เรายังจดจำเธอในฐานะผู้จัดตั้งสหภาพคนทำงานหญิงอีกด้วย การทำงานของเธอสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากการปรับปรุงค่าแรงและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงด้วยการให้เข้าถึงทรัพยากรและการเป็นผู้ประกอบการแล้ว การเสริมพลังผู้หญิงจะสำเร็จได้ เราต้องสร้างอำนาจต่อรองแบบรวมกลุ่มอย่างแข็งขันให้กับคนทำงานหญิงในสหภาพอีกด้วย

อันที่จริงแล้ว จุดกำเนิดของสมาคม SEWA ไม่ได้เป็นการจัดตั้งองค์กรผู้หญิงทำงานที่บ้านหรืออาชีพนอกระบบเท่านั้น แต่คือการจัดตั้งสหภาพคนทำงานหญิง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนั้น เจ้าหน้าที่กรมแรงงานคัดค้านไม่ให้มีการจดทะเบียน SEWA เป็นสหภาพแรงงาน โดยเห็นว่าพวกเธอไม่ได้มีนายจ้างเป็นตัวเป็นตน แต่เอลาเบ็นโต้แย้งว่า SEWA จะเป็นสหภาพหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีหรือไม่มีนายจ้าง แต่การเป็นสหภาพคือการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพของคนทำงานหญิง เพื่อสร้างตัวแทนและอำนาจอย่างเป็นกลุ่มก้อนให้กับพวกเธอ ในเวลาต่อมา SEWA จึงได้จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2515

เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนรุ่นใหม่หลายล้านคนที่กำลังประกอบอาชีพอิสระได้เป็นอย่างดี เอลาเบ็นทำให้เราเห็นว่า คนทำงานอิสระจะมีตัวแทนและอำนาจอย่างเป็นกลุ่มก้อนได้ จะต้องรวมตัวกันกัน และตระหนักเสมอว่าเรามีสิทธิและต้องอาศัยสิทธิดังกล่าวเพื่อจัดตั้งสหภาพคนทำงานของตัวเอง

นอกจากนี้ สหภาพ SEWA ยังชี้ให้เห็นถึงการสถาปนาอำนาจต่อรองให้กับผู้หญิงที่ทำงานอิสระเป็นครั้งแรก โดยในหมู่สมาชิกของเครือสหภาพ IUF นั้น สหภาพ SEWA ถือเป็นสหภาพคนทำงานหญิง ด้านยาสูบและด้านผลิตภัณฑ์จากนมที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการรวมตัวต่อรองราคารับซื้อ นอกจากนี้ จากการที่มีตัวแทนร่วมและพลังของสหภาพ SEWA ยังทำให้คนขายอาหารสามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ในการต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือคุณค่าและความทุ่มเทที่เอลาเบ็น ซึ่งได้เสริมพลังและสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในแบบที่เธอวาดหวังไว้  ดังที่เธอได้เขียนไว้ในเอกสาร SEWA Rashtriya Patrika ฉบับแรกประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ว่าการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงนี้เองที่ “ทำให้พวกเธอมีเสียง มีตัวตน และตอกย้ำคุณค่าของพวกเธอซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้หญิงอย่างยิ่ง”​

เพื่อเป็นเกียรติแก่เอลาเบ็นที่มุ่งมั่นทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของคนทำงานหญิงและการเสริมพลังกลุ่มก้อนผู้หญิง สหภาพ IUF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขอสืบทอดเจตนารมณ์ของเธอ ส่งต่อแนวคิด งานเขียน องค์ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ของเอลาเบ็นไปยังผู้นำสหภาพแรงงานรุ่นใหมในภูมิภาคแห่งนี้ และย้ำเตือนบทเรียนที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเธอคือการออกไปพบปะ พูดคุย ใช้เวลาร่วมกับคนทำงานหญิง และสร้างความมั่นใจให้กับพวกเธอก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในกลุ่มของตัวเองให้ได้ คือเรื่องราวสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากเธอ

ภาพของเอลาเบ็นกับแม่ค้าขายผักในเมืองอาห์มาดาบัด หลังจากเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยชนะ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 โดยช่างภาพ ทอม พีทราซิค