ลาคลอด 182 วัน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ส่วนคู่สมรส ลาได้ 28 วัน จ่ายเงินเดือนเต็ม

ที่ทำงานมีมุมนมแม่ให้ปั๊มนม ฟรีซเก็บในตู้แช่ รักษาคุณภาพนมกลับไปให้ลูกที่บ้าน!

สวัสดิการเหล่านี้ฟังดูเป็นไปไม่ได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างที่รู้กันว่ากฎหมายแรงงานในปัจจุบัน คนทำงานสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม 45 วัน ส่วนอีก 45 วันไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งลูกกลับไปให้ญาติและครอบครัวที่ต่างจังหวัดเลี้ยง แน่นอนว่าต้องหยุดให้นมลูกไปโดยปริยายเพื่อจะกลับมาทำงานอีกครั้ง ในขณะที่คู่สมรสไม่ได้รับสิทธิใดใดในการลาเพื่อดูแลลูกและคู่ครอง

อย่างไรก็ตาม แม้สวัสดิการลาคลอดและมุมนมแม่ที่กล่าวไปข้างต้นจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ว่าได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ภายใต้การผลักดันของเครือข่ายสตรี TEAM ซึ่งเป็นภาคีของคณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

เครือข่ายสตรี TEAM ได้ผลักดันให้บริษัทของสหภาพใน 7จังหวัด แก้ไขนโยบายลาคลอดจาก  90 วันเป็น 120 ถึง 180 วัน และบางบริษัทลาได้ถึง 182 วัน พร้อมกับให้คู่ครองลาได้ 28 วัน โดยมีทั้งที่จ่ายเงินเดือนให้ 70 % และจ่ายเต็ม ทำให้สมาชิกของสหภาพภายใต้กลุ่ม TEAM ได้รับสิทธิในการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์ที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของวันลาคลอดที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับค่าจ้างระหว่างที่ลา และมุมนมแม่ในที่ทำงาน

ตัวแสดงที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ อภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตประธานเครือข่ายสตรี TEAM ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการสตรี IUF เอเชียแปซิฟิก ผู้เคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดสิทธิการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์แก่คนทำงานมากว่า 6 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.​2556- 2562

บทความนี้แบ่งปันวิธีการที่อภันตรี เจริญศักดิ์ใช้ในการจัดตั้งและเคลื่อนไหวได้สำเร็จ ทำให้สมาชิกของสหภาพเข้าถึงสิทธิในการลาคลอดและมุมนมแม่ดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น 5 วิธีดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในกรรมการหรือคณะบริหารของสหภาพ
  2. จัดตั้งกลุ่มทำงานผู้หญิง และให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับการอบรม เรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆของคนทำงานหญิง
  3. ค้นคว้าเรื่องสิทธิคนทำงานและการคุ้มครองคนทำงานที่ตั้งครรภ์ในประเทศอื่น เพื่อเขียนจดหมายให้กับนายจ้างได้อย่างรอบด้าน
  4. ใช้สื่อ ละครเวที การเดินขบวนในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิความเป็นแม่ให้กับสาธารณะและรัฐบาลในวงกว้าง
  5. ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน

อภันตรี เจริญศักดิ์ คือใคร

อภันตรี เจริญศักดิ์ หรือ “พี่หมอ” คือสมาชิกผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานอาหารและบริการประเทศไทย (ส.ร.อ.บ.) และเป็นอดีตประธานสหภาพดังกล่าว โดยเป็นสมาชิกของ IUF

หลังจากนั้น ส.ร.อ.บ. ได้เข้าร่วมเป็นภาคีกับ TEAM ภายใต้คณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยมีอภันตรีเป็นประธานเครือข่ายสตรี TEAM ในช่วงปี พ.ศ.​2556- 2562

ปัจจุบันอภันตรี เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทยและกำลังลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 อภันตรีเล่าให้ฟังว่า การขับเคลื่อนประเด็นการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์ในคนทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะขณะนั้นนอกจากเธอแล้ว ไม่มีกรรมการผู้หญิงคนอื่นในคณะกรรมการบริหารของสหภาพ การไม่มีผู้หญิงในที่นั่งของกรรมการบริหารสหภาพย่อมไม่สามารถหารือหรือวางแผนเรื่องดังกล่าวได้

คณะกรรมการสหภาพ 15 คนไม่มีผู้หญิงสักคน แล้วสมาชิกของสหภาพร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง ที่เหลืออีก 30 เป็นผู้ชาย แล้วแต่ละปีเวลาเขียนข้อเรียกร้องกับนายจ้างก็จะมีเรื่องโบนัส เรื่องอะไรอย่างอื่น ไม่มีเรื่องของผู้หญิงเลย

อภันตรีได้นำปัญหาสัดส่วนกรรมการที่ขาดตัวแทนผู้หญิงไปหารือกับยงยุทธ เม่นตระเภา ประธานคสรท. ในขณะนั้น ซึ่งเขาได้ให้การสนับสนุนอภันตรีในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่

สิ่งแรกที่อภันตรีทำคือการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการบริหารของแต่ละสหภาพที่อยู่ภายใต้ TEAM ทั้ง 7 จังหวัด เธอได้สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีตัวแทน และเสียงของผู้หญิงในสหภาพ

นอกจากนี้เธอยังได้จัดตั้งเครือข่ายสตรี โดยขอให้สหภาพแต่ละแห่งส่งตัวแทนสมาชิกที่เป็นผู้หญิงมาเข้าร่วมกลับกลุ่มทำงานของเธอ โดยเธอได้รับตัวแทนสมาชิกหญิง 12 คนจากจำนวนสมาชิกหญิงทั้งหมดหลายพันคน ก่อนจะนำเครือข่ายสตรีกลุ่มเล็กๆนี้ไปเดินสายให้ความรู้เรื่องความสำคัญของการให้พื้นที่แก่ผู้หญิงในสหภาพ

เราก็เริ่มต้นจาก 12 คนนี่แหละ มาพูดคุยก่อน หลังจากนั้นก็เอา 12 คนนี้ไปทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด สมมุติว่าจังหวัดระยอง มี 15 บริษัท แยกออกเป็น บ่อวิน แหลมฉบัง ก็ไปทั้งแหลมฉบัง อมตะ เวลโกลด์ ฉะเชิงเทรา เขตสมุทรปราการ อ้อมน้อย ปราจีน พี่ก็ยกขบวน 12 คนนี้ไปทำความเข้าใจ เช่น บ่อวินนี่เป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ของ AEC ใช่ไหม เชิญประธานสหภาพแต่ละที่มาเลย เช่น บ่อวินเค้ามีสมาชิกสหภาพ 20 สหภาพ ถ้าประธานมาไม่ได้ก็เลขา เพื่อให้มาชี้แจงเรื่องสัดส่วนความสำคัญของผู้หญิง หลังจากนั้นพื้นที่ก็พยายามผลักดันเอาผู้หญิงมาเป็นกรรมการ

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการบริหารของสหภาพ และเข้าร่วมเครือข่ายสตรีได้ก็เพราะอคติทางเพศและการกีดกันทางเพศ โดยอภันตรีเล่าให้ฟังว่า

บางทีผู้หญิงไม่กล้าเข้ามา ครอบครัวไม่ให้เข้ามา กลัวมีชู้ กลัวเล่นชู้ กลัวนู่นนี่นั่น ทำงานบ้าน ทำงานเสร็จต้องรีบกลับไปให้นมลูก กลับไปทำกับข้าวให้สามี ก็หมดเวลาหมดแรงแล้ว จะให้ออกมาทำงานสหภาพอีก ยาก แรกๆ ทุกคนก็แอนตี้ ไม่เอาพนักงาน ผู้หญิงออกมา เราก็บอกว่า ไม่ได้ คุณต้องมีสักคนสิ พนักงานคุณมีเป็นพันคนเลย สมมุติพันนึง มีผู้หญิงตั้ง 700 คน ผู้ชายแค่ 300 คน คุณจะไม่มีสัดส่วนยื่นข้อเรียกร้องร่วมให้กับผู้หญิงเลยหรอ แรกๆ บางบริษัทไม่ส่งมาเลย เพราะไม่มีจริงๆ

อย่างไรก็ตาม อภันตรีและเครือข่ายสตรี TEAM ไม่ยอมแพ้ พวกเธอเดินหน้าเผยแพร่ความคิดเรื่องสหภาพและความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในสหภาพ โดยเขียนจดหมายขอความร่วมมือไปยังสหภาพต่างๆ ให้ส่งตัวแทนสมาชิกผู้หญิง จนทำให้เครือข่ายสตรี TEAM มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 12คน เป็น 30 คน พวกเธอจึงมีความมั่นใจมากขึ้นและของบประมาณจาก คสรท.มาจัดกิจกรรมอบรม

ในการจัดกิจกรรมอบรม อภันตรีได้เชิญนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักสหภาพที่มีประสบการณ์ และความรู้เรื่องคนทำงานหญิง มาแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับเครือข่าย โดยมีความรู้ตั้งแต่เรื่องสตรีนิยมพื้นฐาน สุขภาวะของผู้หญิง ทักษะการต่อรองแบบรวมกลุ่มกับนายจ้าง ตลอดจนการเขียนจดหมายถึงนายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ  หลังจากการอบรมเหล่านี้ทำให้เครือข่ายสตรี TEAM มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถนำความรู้ ทักษะเหล่านี้ไปฝึกใช้ได้จริงกับสมาชิกในสภาพแต่ละแห่งที่พวกเธอไปเยี่ยมเยือน

ความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี TEAM ส่งผลให้คสรท.ปรับแก้ธรรมนูญของสหภาพให้มีสัดส่วนผู้หญิงร้อยละ 30 ในกรรมการบริหารและให้มีตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศและเยาวชน 1 คน

นอกจากนี้ ความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี TEAM ยังเปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดปัญหาการกดขี่ขูดรีดรูปแบบต่างๆ ของคนทำงานหญิงเข้ามาให้ช่วยเหลือจำนวนมาก อภันตรีเล่าให้ฟังว่า สมาชิกของสหภาพมองเครือข่ายสตรี TEAM ว่าเป็นกลุ่มของ

ปวีณา กลุ่มที่ดำเนินการโดยอดีตนักการเมืองหญิงชื่อ ปวีณา ที่มุ่งช่วยเหลือผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ

จนกระทั่งวันหนึ่ง เครือข่ายสตรี TEAM ได้รับจดหมายร้องเรียนจากคนทำงานหญิงที่ตั้งครรภ์และถูกเลิกจ้าง เครือข่ายสตรี TEAM จึงได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานดังกล่าว และพบว่าบริษัทมีการจ้างพนักงานจากบริษัทภายนอก (outsorcing) 3-4 บริษัท เมื่อบริษัทพบว่าพนักงานตั้งครรภ์ ได้ส่งกลับไปยังต้นสังกัด และก่อนจะถูกบริษัทเอ้าท์ซอสเลิกจ้าง ปัญหาดังกล่าวไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาพูดถึง เนื่องจากมองว่ามีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากทั้งประธานคสรท. นักสหภาพชายที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิคนทำงานหญิงมากขึ้น และจำนวนของตัวแทนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารสหภาพที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เครือข่ายสตรี TEAM สามารถรับมือกับปัญหาที่ท้าทายนี้ได้

อภันตรีค้นคว้าข้อมูลของประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคยุโรป และเอเชียว่ารับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร มีการให้สิทธิลาคลอดแก่คนทำงานอย่างไร ทั้งในแง่ของวันลาคลอดและเงินชดเชย ซึ่งทำให้เธอเห็นความเป็นไปได้ในการต่อสู้แก้ไขปัญหานี้ เธอได้ใช้ข้อมูลจากการค้นคว้าดังกล่าวมาเขียนเป็น “หลักการและเหตุผล” ในจดหมายร้องเรียนต่อนายจ้างเพื่อให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้น ก่อนที่จะส่งจดหมายดังกล่าวไปยังสหภาพทุกแห่งที่เป็นสมาชิกของ TEAM ใน 7 จังหวัดเพื่อมอบให้กับบริษัท วิธีการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการแก้ไข ปรับปรุงนโยบายเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นแม่และผลประโยชน์ของคนทำงาน

นอกจากนี้ เครือข่ายสตรี TEAM ยังได้ใช้ประโยชน์จากสื่อ โดยการจัดทำละครเวทีและการเดินขบวนในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสตรีสากล เมย์เดย์ วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง วันงานที่มีคุณค่า เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิ และการคุ้มครองความเป็นแม่ของคนทำงานให้กับสาธารณชนและรัฐบาล

สำหรับการทำละครเวทีนั้น เกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายสตรี TEAM ได้ลงพื้นที่ยังโรงงานต่างๆ อภันตรีและกลุ่มพบว่าคนทำงานหญิงหลายคนต้องปั๊มนมในห้องน้ำที่สกปรกในช่วงพัก ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและผลกระทบต่อสุขภาพได้ เธอได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าวและนำมาจัดทำเป็นละครเวที ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาศัยการติดต่อประสานไปทางอาจารย์ที่เป็นเครือข่ายของเธอ ละครเวทีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชมและเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชมจำนวนมาก

เมื่อว่าวเริ่มติดลม บริษัทบางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายลาคลอดและมุมนมแม่เครือข่ายสตรี TEAM ไม่รอช้า พวกเธอประสานไปยังหน่วยงานของรัฐให้เข้ามามีส่วนร่วม อภันตรีได้ติดต่อกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาแนะนำเรื่องการจัดทำมุมนมแม่แก่บริษัทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสุขอนามัย

พี่ติดต่อไปทางกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาแนะนำหน่อยว่า ห้องๆนึงมุมนมแม่ควรที่จะมีอะไรบ้าง เช่น อุปกรณ์การปั๊มนม มันต้องมีอะไรบ้าง ต้องเช็ดเต้านมด้วยน้ำอุ่น ก็ต้องมีกาน้ำร้อน ปั๊มนมเสร็จก็จะเก็บต้องมีตู้ฟรีซเซอร์ ใส่ถุงซิป มีปากกาเขียนวันที่ ชื่อเอาไว้ พอจะเอากลับบ้านก็ต้องใส่กล่องดรายไอซ์กลับบ้าน เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมที่มีคุณภาพต่อ เพราะเด็กต้องได้กินนมแม่อย่างน้อย 1-6 เดือน ถ้า 1ปีขึ้นไปก็จะเยี่ยมยอดมาก

หลังจากนั้นเครือข่ายสตรี TEAM ยังได้มีการใช้งบประมาณของสหภาพในการบันทึก วิดีโอความสำเร็จของบริษัทที่สามารถปรับปรุงนโยบายลาคลอดได้ โดยให้คนทำงานสามารถลาคลอดได้ 182 วัน และจ่ายเงินเดือนให้เต็ม พร้อมกับจัดทำมุมนมแม่ในที่ทำงาน แล้วส่งวิดีโอดังกล่าวไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

วิดีโอดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานรัฐและเกิดการสร้างเกณฑ์การให้รางวัลนายจ้างดีเด่นที่มีนโยบายวันลาคลอดแก่พนักงานที่ทำได้มากกว่าที่รัฐบาลทำ (90 วัน) และให้สวัสดิการต่างๆคุ้มครองสิทธิความเป็นแม่ ซึ่งรางวัลเหล่านี้ได้สร้างแรงจูงใจ และเกิดบรรยากาศของการแข่งภายในบริษัทในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

หลายๆบริษัทในเครือข่าย นายจ้างเค้าคุยกัน เค้าเหมือนว่า บริษัทนู้นมี บริษัทฉันต้องมีบ้าง ซึ่งมันก็ทำให้เค้าได้เป็นนายจ้างดีเด่นดับกระทรวงแรงงาน กับ พม (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ด้วย มันก็เกิดการแข่งขัน เพราะมันเป็นเรื่งของเชิงบวก ไม่ใช่เรื่องของเป็นภาพลบ สมมุติอย่างซัมมิท ในระยองไม่เคยคิดจะมีเรื่งของมุมนมแม่ แต่พอบริษัทเล็กๆมีเนี่ย แล้วซัมมิทใหญ่ขนาดนั้นคุฯจะไม่มีได้ไง เค้าก็หันมายกระดับ อย่างโตโยต้า ไม่เคยมีนมแม่ แต่พอบริษัทเล็กๆที่ทำส่วนอะไหล่ให้โตโยต้ามีมุมนมแม่ มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นแล้วโตโยต้าจะไม่ทำได้หรอ มันก็เกิดการแข็งขันทำสิ่งดีๆสู้สังคมด้วย มันก็มาจากพื้นฐานมาจากพวกเรา ผลักดันให้เกิดการขยายผล ในปี 63 บริษัทในสหภาพของเราไปรับโล่ 18 บริษัท เพราะมีวันลาคลอดกว่า 120 180 วันและทะยอยกันเพิ่มมากขึ้นในหลายบริษัท

 จะเห็นได้ว่า เครือข่ายสตรี TEAM อาศัยยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบที่ดึงเอาตัวแสดงจากหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวผลักดันสิทธิและการคุ้มครองความเป็นแม่ให้กับคนทำงาน ทั้งนักสหภาพชายที่เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจในประเด็นของสิทธิของผู้หญิงมากขึ้นและสนับสนุนให้อภันตรีผลักดันเรื่องสัดส่วนผู้หญิงในกรรมการบริหารของสหภาพ จนบรรจุเข้าไปเป็นกฎของสหภาพว่าต้องมีตัวแทนผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในกรรมการบริหาร

การสร้างกลุ่มทำงานผู้หญิงที่เข้มแข็ง ที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักสหภาพอื่นๆ และการลงพื้นที่พบปะสมาชิกในโรงงาน การสืบค้นข้อมูลเรื่องนโยบายคุ้มครองสิทธิของแม่ในประเทศอื่น เพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนจดหมายเสนอนายจ้างที่มีหลักการมากขึ้น

นอกจากนี้ เครือข่ายสตรี TEAM ยังมีการใช้สื่อ ละครเวที และการเดินขบวนในวันพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าวแก่สาธารณชนและรัฐในวงกว้าง รวมทั้งการดึงเอาภาคส่วนของรัฐในการสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้กับบริษัทในการปรับปรุงนโยบายเรื่องสวัสดิการและวันลาคลอด

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเผยแสดงให้เห็นการเปลี่ยนความไม่ลงรอยไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน และการให้พื้นที่และเสียงของผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่นำเป็นจุดก่อตัวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

ศุภรดา เฟื่องฟู (ผักกาด) เจ้าหน้าที่สื่อสาร IUF ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ประจำประเทศไทย