ไม่ใช่ทั้งงานบริการ และไม่ใช่การร่วมเพศ: การค้าประเวณีต้องหมดไป เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้ทำงานที่มีคุณค่า
แนวคิด “งานบริการทางเพศ” (sex work) นั้นไม่ไปด้วยกันไม่ได้กับแนวคิด “งานที่มีคุณค่า” (decent work)
งานที่มีคุณค่า ไม่ใช่แนวคิดที่ใช้อธิบายอย่างตัดสินต่องานในลักษณะต่างๆ อย่างแบ่งขั้ว เช่น งานที่ดี งานที่เลว งานที่เหมาะสม งานที่ไม่เหมาะสม
แนวคิดงานที่มีคุณค่าสร้างขึ้นเพื่อรวบรวมแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยทำให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างคลอบคลุม ทั้งในส่วนบุคคลและส่วนรวม นอกจากนี้แนวคิดงานที่มีคุณค่ายังหมายถึง เงื่อนไขพื้นฐานต่างๆ ที่จะทำให้แรงงานได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ งานที่มีคุณค่าจึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงิน (อย่างค่าจ้าง รายได้) เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการที่แรงงานได้ทำงานที่เติมเต็มความต้องการของตนเองด้วย
จากคำกล่าวของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO): “… งานที่มีคุณค่าคือ การมีแรงบันดาลใจของผู้คนในชีวิตการทำงาน การได้รับโอกาสในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล การได้รับรายได้ที่เป็นธรรม และได้ทำงานในที่ที่ปลอดภัย การได้รับสวัสดิการสังคมเพื่อดูแลครอบครัว การได้รับโอกาสที่ดีในการพัฒนาตัวเอง และนำไปใช้กับสังคม แรงงานมีเสรีภาพในการแสดงความรู้สึกนึกคิดตนเอง อีกทั้งสามารถริเริ่มและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานได้ ตลอดจนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม”
จากคำนิยามข้างต้น เราพบว่างานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่อันตราย ยาก หรือได้รับค่าตอบแทนน้อยเพียงใด ก็สามารถกลายเป็นงานที่มีคุณค่าได้ แต่ “งานบริการทางเพศ” การแสวงหากำไรและผลประโยชน์ ไม่สามารถกลายเป็นงานที่มีคุณค่าได้ เพราะ สภาวะพื้นฐานที่ขับดันให้เกิด “งานบริการ” ดังกล่าวคือ ความยากจน หนี้สิน การขาดสวัสดิการสังคม ความไม่มั่นคง การถูกกีดกัน การพลัดถิ่นจากความขัดแย้งและสงคราม และการค้ามนุษย์ สภาวะเหล่านี้คือสิ่งที่บังคับให้ผู้หญิงค้าประเวณี ซึ่งถือเป็นการบีบบังคับไม่ใช่การตัดสินใจเลือก
“งานบริการทางเพศ” ไม่สามารถกลายเป็นงานที่มีคุณค่าได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมบริการทางเพศ” ต้องพึ่งพาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม และร่างกายของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อสร้างผลกำไรในฐานะ “ธุรกิจ” ทั้งยังต้องหล่อเลี้ยงความเปราะบางนี้ไว้เพื่อรักษาและขยายทรัพยากรความเปราะบางนี้ เพื่อสร้างผลกำไรต่อไป
การทำให้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม และร่างกายของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงหมดไป จึงเป็นแกนกลางสำคัญของงานที่มีคุณค่า ที่จะหยุดยั้ง “อุตสาหกรรมทางเพศ” ได้
การโต้แย้งว่า การขายบริการทางเพศ คืองานรูปแบบหนึ่ง โดยอ้างว่าไม่ต่างจากงานขายบริการอื่นๆ ทั่วไป ที่เป็นการขายแรงงานเพื่อแลกค่าจ้าง ข้อเสนอนี้ตั้งอยู่บนมุมมองว่า กำลังการผลิตทั้งทางกายทางใจ (ซึ่งงานทุกงานก็ล้วนอาศัยกำลังการผลิตทั้งทางกาย และใจผสมกันไป) ล้วนนำไปสู่การผลิตสินค้า หรือ การบริการขึ้น อย่างไรก็ตาม การขายบริการทางเพศไม่สามารถเทียบได้เช่นนั้น เพราะการขายบริการทางเพศ คนทำงานไม่ได้ขายแรงงาน หรือขายกำลังการผลิตทางร่างกายหรือจิตใจออกไป แต่เป็นการขายตัวของเธอทั้งหมด เธอกลายเป็นสินค้า กลายเป็นสินค้าที่ถูกบริโภค ลักษณะนี้ทำให้การขายบริการทางเพศ ไม่ใช่งาน และเงื่อนไขจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ที่คนทำงานพึงมีก็หายไปสิ้น
การค้าประเวณี (prostitution) กลายเป็นอุตสาหกรรมได้ จากการได้รับอนุญาต และได้รับการส่งเสริม เนื่องจากการค้าประเวณีสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ทั้งที่ผลกำไรเหล่านี้มาจากการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ที่ไม่ได้มาเพื่อขายแรงงานแลกค่าจ้าง หรือการจ้างงาน แต่ผู้หญิงและเด็กหญิงถูกทำให้เป็นสินค้า ถูกทำให้เป็นผลผลิต ฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงไม่ได้กำลังจ้างงาน แต่คือการค้าทาสภายใต้วิถีปฏิบัติแบบปิตาธิปไตย ที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงเป็นเหมือนเป็นสินค้า เป็นเหมือนสินทรัพย์
ฉะนั้น ด้วยหลักการงานที่มีคุณค่า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับรองการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของพวกเธอ เพราะงานเหล่านี้ปฏิบัติต่อพวกเธอเป็นสินค้า เมื่อไม่มีหลักการรับรองสิทธิของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จึงทำให้ธุรกิจเหล่านี้ดำรงอยู่ได้โดยละเมิดหลักการงานที่มีคุณค่า
การอ้างว่า “การขายบริการทางเพศ” มาจากการเลือกของผู้หญิงหรือเด็กหญิงนั้น ถือเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่พิจารณาเรื่องสภาวะบีบบังคับต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น รวมทั้งละเลยที่จะมองเห็นธุรกิจที่แสวงประโยชน์โดยเจตนาและเป็นระบบ จากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม และร่างกายของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง อันเนื่องมาจากความยากจน หนี้สิน และการพลัดถิ่น สิ่งเหล่านี้คือการบีบบังคับ ไม่ใช่การเลือกโดยอิสระ
เมื่อหันกลับมาพิจารณาประเด็นแรงงานทาสยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงที่ชาวประมงได้รับการช่วยเหลือจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน ผมไม่เคยได้ยินรัฐบาล บริษัท สหภาพแรงงานหรือ เอ็นจีโอ ไหนอ้างว่าคนเหล่านี้เลือกอยู่บนเรือลำนั้นเอง แต่มองว่าผู้คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือก และถูกทารุณอย่างเลวร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วเหตุใดเมื่อเป็นกรณีของการค้าประเวณี องค์กรเหล่านี้กลับมาบอกว่าผู้หญิงที่ถูกกดขี่เหล่านี้ตัดสินใจเลือกเอง ความโกรธเกรี้ยวต่อความโหดร้ายทารุณและการปฏิบัติอย่างลดทอนต่อมนุษย์ของพวกเขาหายไปไหนหมด
ทางเดียวที่จะพิจารณาว่า การขายบริการมาจากการเลือกอย่างอิสระ คือต้องกำจัดสภาวะบีบบังคับให้หมดไป สภาวะบีบบังคับ ที่หมายถึง ความยากจน หนี้สิน การพลัดถิ่น การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และความเปราะบางของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่นำไปสู่การค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน และสร้างสวัสดิการสังคมสำหรับทุกคน ทั้งในเรื่องของสุขภาพสำหรับทุกคน ไม่มีหนี้สิน เราต้องสร้างสวัสดิการคุ้มครองทางสังคมอย่างรอบด้านตามที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และขจัดความยากจน เราต้องสร้างงาน ประกันค่าครองชีพ และรับประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนสากลในด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาหารและโภชนาการตามที่รับรองไว้ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อถึงตอนนั้นแล้วจึงจะพูดได้ว่า การขายบริการทางเพศเป็นงานที่พวกเธอเลือกเอง
อย่างไรก็ตามเราห่างไกลจากสังคมเช่นนั้น เรายังเผชิญกับความยากจน หนี้สิน การย้ายถิ่นฐานในอีกทศวรรษข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเปราะบางมากขึ้นอีก และเกิดการกดขี่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในการค้าประเวณีมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวทั่วโลกก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น รัฐบาล เจ้าของรีสอร์ท และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างให้คำมั่นสัญญาว่า “จะสร้างความเข้มแข็ง” ในอุตสาหรรมการท่องเที่ยว อาศัยการค้าประเวณีเป็นบริการให้ความบันเทิง เป็นสิ่งดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมหาศาลให้แก่ประเทศ แต่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงยากจน ความยากจนเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมปรารถนาให้พวกเธอประสบ เพราะพวกเขาต้องแสวงหาผลกำไรจากตวามเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคมของพวกเธอ
ข้อ 23 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คือสิทธิในการหารายได้ที่รับรองว่าการหารายได้ต้อง “ดำรงอยู่คู่กับการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการหารายได้ทำลายศักดิ์ศรีของคุณ ปฏิบัติต่อคุณราวกับสินค้าหรือทรัพย์สิน และพยายามพรากความเป็นมนุษย์ของคุณด้วย
ผู้ที่เคยผ่านชีวิตเช่นนั้นมา พวกเธอต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พวกเธอหลบหนีจากการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี และช่วยเหลือผู้อื่นให้ทำหลบหนีออกจากวงจรเหล่านี้
การที่เรายังเรียกการค้าประเวณีว่าเป็น “งานบริการทางเพศ” (sex work) ย่อมถือเป็นดูหมิ่นการต่อสู้ดิ้นรนที่กล้าหาญและกังขาในความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราเอง