ในอดีต กองทัพในหลายประเทศ ใช้วิกฤตทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน ยึดอำนาจและระงับประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบัน กองทัพอาศัยวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในการอ้างเหตุผลเพื่อแทรกแซงทางทหารและจัดเตรียมกองกำลังติดอาวุธ กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินบ่อยขึ้น ซึ่งนำไปสู่การประกาศสภาวะฉุกเฉินของกองทัพและการชะงักของของระบอบประชาธิปไตย  ในหลายประเทศ ที่มีเหตุฉุกเฉินด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การระงับประชาธิปไตยและสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ระบอบประชาธิปไตยและสิทธิในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จำเป็นจ้องใช้ในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการันตีความยุติธรรมด้านสภาพอากาศ

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พายุไซโคลนมอคค่า ซึ่งเป็นพายุโซนร้อนระดับที่ 5 ได้พัดถล่มชายฝั่งบังกลาเทศและพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศพม่า ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและสร้างความหายนะในวงกว้างในรัฐยะไข่ และเมืองหลวงซิตตเว

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว อย่างพายุไซโคลนมอคค่าที่เกิดขึ้น มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจาก(มนุษย์) ซึ่งเรามักไม่เข้าใจบริบททางการเมืองของเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเหล่านี้ว่ามีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ทั้งการสูญเสียชีวิต การทำลายล้าง และการพลัดถิ่น

เครือข่ายสันติภาพเพื่อผู้หญิง (Women’s Peace Network) ได้รายงานอย่างกล้าหาญถึงการปราบปรามอย่างโหดร้ายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยได้จัดการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม โดยประเมินผลกระทบของพายุไซโคลนมอคคาและสรุปวิธีที่รัฐบาลทหารอาศัยเหตุพายุไซโคลนในการปราบปรามประชาชนในทาง ดังจะเห็นได้จากในรายงานที่กล่าวว่า

รายงานเกี่ยวกับการตอบสนองของรัฐบาลทหารต่อพายุไซโคลนมอคค่าชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทหารได้ทำลายความพยายามของชาวโรฮิงญาที่จะอพยพย้ายถิ่นฐาน [ภายในประเทศ] และได้ปิดกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือที่ส่งไปยังค่ายของพวกเขาและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งพ้องกันการกระทำของรัฐบาลทหารที่มุ่งส่งเสริมการแบ่งแยกสีผิวในรัฐยะไข่หลังการพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

วิธีการที่กองทัพรับมือกับผลกระทบร้ายแรงของพายุไซโคลนมอคค่าต่อรัฐยะไข่และค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ

อาจะเรียกได้ว่าเป็น “การปล่อยเลยตามเลย” ซึ่งชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บังคับให้พลัดถิ่นฐานของชาวโรฮิงญา และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำโดยกองทัพในปี 2560 ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตัดสินว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นการบรรจบกันของความเปราะบางทางสภาพอากาศ และความเปราะบางของประชากรที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ความเปราะบางเหล่านี้ขยายใหญ่ขึ้นจากการประหัตประหารทางการเมืองอย่างเป็นระบบและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ต้องทนทุกข์กับการสูญเสียชีวิต บ้านเรือนถูกทำลาย การถูกกีดกันและการพลัดถิ่น แต่พวกเขายังถูกจำกัดไม่ให้มีการเตรียมตัวหรือร่วมกันเพื่อปกป้องชุมชนของตนเอง

เมื่อเกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมหลังเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง อย่าง พายุไซโคลน เรามักจะเห็นองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศแสดงเหตุผลความจำเป็นในการทำงานร่วมกับรัฐบาลทหาร หน่วยงานช่วยเหลือบางแห่งดูเหมือนจะเชื่อว่าระบอบเผด็จการรวมศูนย์เป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ โดยละเลยความจริงที่ว่าระบอบเผด็จการนั้นเองที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และขโมยทรัพยากรสาธารณะ รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และถ่ายโอนไปยังชนชั้นสูงและพวกพ้องที่มีอำนาจ โดยการขโมยทรัพยากรสาธารณะนี้เองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ระบอบเผด็จการรวมศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ระบอบเผด็จการยังมีอิทธิพลในการกำหนดวิกฤตด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กล่าวคือ ประชากรที่ถูกระบุว่าเป็นศัตรูกับรัฐและ/หรือกลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนาที่เฉพาะเจาะจงจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังที่เราเห็นในพม่าทุกวันนี้ สงครามของรัฐบาลทหารต่อประชากรพลเรือนขยายไปถึงการปฏิเสธความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เหตุผลนั้นไม่ซับซ้อน กล่าวคือ ในการเป็นเหยื่อจากวิกฤตด้านมนุษยธรรมและมีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น จะต้องถูกมองว่าเป็นมนุษย์ก่อน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา เราได้เห็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศ (ซึ่งมักมาจากการแทรกแซงของต่างประเทศ) ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับชาติหรือระดับย่อยของประเทศ (รัฐ ภูมิภาค จังหวัด) และมีการส่งกำลังทหารไปตามท้องถนน  เมื่อทหารออกจากค่ายทหาร นายพลทหารและลูกๆ ของพวกเขาก็เข้าสู่ชีวิตทางการเมือง พลเรือน และเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าอำนาจของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับการฟื้นฟูและเกิดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่กองทัพยังคงควบคุมพรรคการเมืองและรักษาฐานที่มั่นในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินตลอดกาลสำหรับประชาชน

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ส่งผลให้เกิดการนิยาม “ความทนทานต่อสภาพอากาศ” (climate resilience) ใหม่ กล่าวคือ เราจะมีความทนทานทางสภาพอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบร่วมกันได้นั้น ก็ต่อเมื่อเราดำรงอยู่ในสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่มีความเท่าเทียม และรับประกันว่าสุขภาพของมนุษย์ การดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราเรียกร้องความทนทานต่อสภาพอากาศจากชนชั้นนำทางการเมือง ซึ่งมีแต่จะทำให้เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงต่อไป เพราะเราไม่มีกลไกประชาธิปไตยสำหรับการดำเนินการและความรับผิดชอบร่วมกัน และยังรวมถึงในบางกรณีอย่างชุมชนที่เปราะบางที่ไม่มีสิทธิในการย้ายถิ่นฐาน

ในหลายประเทศ ฝ่ายขวาสุดได้เปลี่ยนจาก การปฏิเสธสภาพภูมิอากาศเป็น ความตื่นตระหนกด้านสภาพอากาศ พวกเขาใช้โอกาสทางการเมืองดังกล่าวในการประกาศความล้มเหลวของรัฐในการช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (โดยเฉพาะชุมชนในชนบทที่เปราะบางต่อสภาพอากาศ) การเผชิญกับวิกฤตครั้งใหม่นี้ ฝ่ายขวาสุดยังเน้นย้ำและเรียกร้องให้มีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นคำที่ประชานิยมหมายถึงการปกครองแบบเผด็จการ เช่นเดียวกับภาวะฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามภายนอกต่อประเทศชาติ วิกฤตทางสภาพอากาศ โดยเหตุเหล่านี้เองที่จะถูกใช้โดยกลุ่มขวาจัดเพื่อสร้างความชอบธรรมในการระงับระบอบประชาธิปไตย

ในวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ อาจส่งผลให้เราต้องเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง ทั้งคลื่นความร้อน ไฟป่า ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “การเด้งกลับทางสภาพภูมิอากาศ” (climate whiplash)จากเหตุการณ์รุนแรงหนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง (เช่น เกิดภัยแล้งตามด้วยน้ำท่วม หรือเกิดไฟป่าแล้วตามด้วยฝนตกหนัก) จะเกิดอะไรขึ้น หากสิ่งนี้นำไปสู่สภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องที่ระงับประชาธิปไตยโดยถาวร?

เขียนโดย ดร.มูฮัมหมัด ฮิดายัท กรีนฟิลด์ เลขาธิการ IUF ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก