by IUF Asia/Pacific | Apr 12, 2023 | ภาษาไทย Thai , Right to a Safe Workplace
28 เมษายน เป็นวันรำลึกถึงคนทำงานที่เสียชีวิต เป็นวันแห่งการไว้อาลัยชีวิตที่สูญเสียอย่างน่าเศร้า เป็นวันที่หลายคำถามไม่ได้รับคำตอบ เป็นวันแห่งความโกรธขึ้งและขุ่นข้องหมองใจ
28 เมษายน ไม่ใช่วันแห่งความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล อย่างที่รัฐบาล นายจ้าง หรือสหภาพแรงงานบางแห่งชวนเชื่อ ไม่ใช่วันแห่งการเฉลิมฉลองความปลอดภัยและสุขภาพในที่ทำงาน หรือ วันแห่งนโยบายอาชีวอนามัยหรือความปลอดภัยจากรัฐ อุตสาหกรรม และ บริษัทต่างๆ กล่าวอ้าง แต่คือวันแห่งการจดจำว่าแรงงานหลายล้านคน สังเวยชีวิตในหน้าที่ บาดเจ็บสาหัส และเจ็บป่วยจากโรคภัยร้ายแรงต่างๆ จากการทำงาน
ผู้เสียชีวิตหลายล้านคนเหล่านี้ ต่างเป็น พี่น้อง คู่ครอง ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติ เพื่อน ของใครหลายๆคน ที่ไม่ได้กลับบ้าน แม้จะเลิกงานแล้ว บ้างต้องเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ จากการทำงาน จำนวนผู้สูญเสียเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวเลขในสถิติ แต่คือชีวิตที่มีเลือดเนื้อ ชีวิตที่สูญเสียไปจากการทำงานหาเลี้ยงปากท้อง
28 เมษายน คือวันแห่งการทวงถามว่าเหตุใด ความสูญเสียเหล่านี้ยังเกิดขึ้น คือวันแห่งการเรียกร้องให้เหตุเหล่านี้สิ้นสุดลง
28 เมษายน คือวันแห่งการย้ำเตือนว่า คนทำงานทุกคนมีสิทธิที่จะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย กลับมาหาคนที่รักในสภาพร่างกายและจิตใจที่ปราศจากโรคภัยหรืออาการบาดเจ็บต่างๆ ข้ออ้างที่ว่า คนทำงานเสียชีวิตก็เพราะทำงานที่เสี่ยงอันตราย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะหากงานเหล่านี้อันตราย เราก็ต้องทำให้มันปลอดภัย ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะใช้เงิน วางระบบใหม่ เปลี่ยนวิธีการทำงาน วางแผนใหม่ หรือลงทุนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำ เพื่อให้งานปลอดภัยให้ได้
ทุกวันนี้เงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับการทำวิจัยทางทหารและการพัฒนา เพื่อค้นคว้าวิธีที่จะเข่นฆ่าชีวิต มากกว่าปกป้องชีวิตในที่ทำงาน หากเจียดงบประมาณที่ใช้ในการทหารและธุรกิจที่มุ่งเข่นฆ่าผู้คนเหล่านี้สักเล็กน้อยมาใช้ เราจะสามารถลดอันตรายและขจัดความเสี่ยงจากการทำงานอย่างในระดับฐานรากได้ ซึ่งหมายความว่า จะมีครอบครัวที่สูญเสียคนรักจากการทำงานน้อยลง และคนที่เราไว้อาลัยในวันที่ 28 เมษานี้ก็จะน้อยลงไปด้วย
ในปี 2566 นี้ เราขอเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งทางทหารและสงครามทั้งหมด เพื่อสันติภาพ เพื่อยุติปฏิบัติการกองกำลังทหาร เราของเรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทหยุดเข่นฆ่าประชาชน หยุดเข่นฆ่าคนทำงาน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทรัพยากรทางเศรษฐกิจของรัฐและเอกชน จากที่หากำไรบนการทำร้ายชีวิต ไปสู่การปกป้องชีวิต จะต้องไม่มีชีวิตใดสูญเสีย บาดเจ็บ ป่วยไข้ในที่ทำงานอีก
จดจำชีวิตที่สูญเสีย ต่อสู้เพื่อชีวิตที่ยังอยู่ ยุติการเข่นฆ่าคนทำงาน
by IUF Asia/Pacific | Mar 8, 2023 | ภาษาไทย Thai , Women Unions & Power
ลาคลอด 182 วัน จ่ายเงินเดือนเต็ม
ส่วนคู่สมรส ลาได้ 28 วัน จ่ายเงินเดือนเต็ม
ที่ทำงานมีมุมนมแม่ให้ปั๊มนม ฟรีซเก็บในตู้แช่ รักษาคุณภาพนมกลับไปให้ลูกที่บ้าน !
สวัสดิการเหล่านี้ฟังดูเป็นไปไม่ได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างที่รู้กันว่ากฎหมายแรงงานในปัจจุบัน คนทำงานสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม 45 วัน ส่วนอีก 45 วันไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งลูกกลับไปให้ญาติและครอบครัวที่ต่างจังหวัดเลี้ยง แน่นอนว่าต้องหยุดให้นมลูกไปโดยปริยายเพื่อจะกลับมาทำงานอีกครั้ง ในขณะที่คู่สมรสไม่ได้รับสิทธิใดใดในการลาเพื่อดูแลลูกและคู่ครอง
อย่างไรก็ตาม แม้สวัสดิการลาคลอดและมุมนมแม่ที่กล่าวไปข้างต้นจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ว่าได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ภายใต้การผลักดันของเครือข่ายสตรี TEAM ซึ่งเป็นภาคีของคณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
เครือข่ายสตรี TEAM ได้ผลักดันให้บริษัทของสหภาพใน 7จังหวัด แก้ไขนโยบายลาคลอดจาก 90 วันเป็น 120 ถึง 180 วัน และบางบริษัทลาได้ถึง 182 วัน พร้อมกับให้คู่ครองลาได้ 28 วัน โดยมีทั้งที่จ่ายเงินเดือนให้ 70 % และจ่ายเต็ม ทำให้สมาชิกของสหภาพภายใต้กลุ่ม TEAM ได้รับสิทธิในการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์ที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของวันลาคลอดที่เพิ่มมากขึ้น การได้รับค่าจ้างระหว่างที่ลา และมุมนมแม่ในที่ทำงาน
ตัวแสดงที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ อภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตประธานเครือข่ายสตรี TEAM ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการสตรี IUF เอเชียแปซิฟิก ผู้เคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดสิทธิการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์แก่คนทำงานมากว่า 6 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2556- 2562
บทความนี้แบ่งปันวิธีการที่อภันตรี เจริญศักดิ์ใช้ในการจัดตั้งและเคลื่อนไหวได้สำเร็จ ทำให้สมาชิกของสหภาพเข้าถึงสิทธิในการลาคลอดและมุมนมแม่ดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยแบ่งออกเป็น 5 วิธีดังต่อไปนี้
เพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในกรรมการหรือคณะบริหารของสหภาพ
จัดตั้งกลุ่มทำงานผู้หญิง และให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับการอบรม เรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆของคนทำงานหญิง
ค้นคว้าเรื่องสิทธิคนทำงานและการคุ้มครองคนทำงานที่ตั้งครรภ์ในประเทศอื่น เพื่อเขียนจดหมายให้กับนายจ้างได้อย่างรอบด้าน
ใช้สื่อ ละครเวที การเดินขบวนในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิความเป็นแม่ให้กับสาธารณะและรัฐบาลในวงกว้าง
ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
อภันตรี เจริญศักดิ์ คือใคร
อภันตรี เจริญศักดิ์ หรือ “พี่หมอ” คือสมาชิกผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานอาหารและบริการประเทศไทย (ส.ร.อ.บ.) และเป็นอดีตประธานสหภาพดังกล่าว โดยเป็นสมาชิกของ IUF
หลังจากนั้น ส.ร.อ.บ. ได้เข้าร่วมเป็นภาคีกับ TEAM ภายใต้คณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) โดยมีอภันตรีเป็นประธานเครือข่ายสตรี TEAM ในช่วงปี พ.ศ.2556- 2562
ปัจจุบันอภันตรี เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการสมานฉันท์แรงงานไทยและกำลังลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 อภันตรีเล่าให้ฟังว่า การขับเคลื่อนประเด็นการคุ้มครองผู้ตั้งครรภ์ในคนทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันที เพราะขณะนั้นนอกจากเธอแล้ว ไม่มีกรรมการผู้หญิงคนอื่นในคณะกรรมการบริหารของสหภาพ การไม่มีผู้หญิงในที่นั่งของกรรมการบริหารสหภาพย่อมไม่สามารถหารือหรือวางแผนเรื่องดังกล่าวได้
คณะกรรมการสหภาพ 15 คนไม่มีผู้หญิงสักคน แล้วสมาชิกของสหภาพร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง ที่เหลืออีก 30 เป็นผู้ชาย แล้วแต่ละปีเวลาเขียนข้อเรียกร้องกับนายจ้างก็จะมีเรื่องโบนัส เรื่องอะไรอย่างอื่น ไม่มีเรื่องของผู้หญิงเลย
อภันตรีได้นำปัญหาสัดส่วนกรรมการที่ขาดตัวแทนผู้หญิงไปหารือกับยงยุทธ เม่นตระเภา ประธานคสรท. ในขณะนั้น ซึ่งเขาได้ให้การสนับสนุนอภันตรีในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่
สิ่งแรกที่อภันตรีทำคือการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการบริหารของแต่ละสหภาพที่อยู่ภายใต้ TEAM ทั้ง 7 จังหวัด เธอได้สร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการมีตัวแทน และเสียงของผู้หญิงในสหภาพ
นอกจากนี้เธอยังได้จัดตั้งเครือข่ายสตรี โดยขอให้สหภาพแต่ละแห่งส่งตัวแทนสมาชิกที่เป็นผู้หญิงมาเข้าร่วมกลับกลุ่มทำงานของเธอ โดยเธอได้รับตัวแทนสมาชิกหญิง 12 คนจากจำนวนสมาชิกหญิงทั้งหมดหลายพันคน ก่อนจะนำเครือข่ายสตรีกลุ่มเล็กๆนี้ไปเดินสายให้ความรู้เรื่องความสำคัญของการให้พื้นที่แก่ผู้หญิงในสหภาพ
เราก็เริ่มต้นจาก 12 คนนี่แหละ มาพูดคุยก่อน หลังจากนั้นก็เอา 12 คนนี้ไปทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด สมมุติว่าจังหวัดระยอง มี 15 บริษัท แยกออกเป็น บ่อวิน แหลมฉบัง ก็ไปทั้งแหลมฉบัง อมตะ เวลโกลด์ ฉะเชิงเทรา เขตสมุทรปราการ อ้อมน้อย ปราจีน พี่ก็ยกขบวน 12 คนนี้ไปทำความเข้าใจ เช่น บ่อวินนี่เป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ของ AEC ใช่ไหม เชิญประธานสหภาพแต่ละที่มาเลย เช่น บ่อวินเค้ามีสมาชิกสหภาพ 20 สหภาพ ถ้าประธานมาไม่ได้ก็เลขา เพื่อให้มาชี้แจงเรื่องสัดส่วนความสำคัญของผู้หญิง หลังจากนั้นพื้นที่ก็พยายามผลักดันเอาผู้หญิงมาเป็นกรรมการ
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการบริหารของสหภาพ และเข้าร่วมเครือข่ายสตรีได้ก็เพราะอคติทางเพศและการกีดกันทางเพศ โดยอภันตรีเล่าให้ฟังว่า
บางทีผู้หญิงไม่กล้าเข้ามา ครอบครัวไม่ให้เข้ามา กลัวมีชู้ กลัวเล่นชู้ กลัวนู่นนี่นั่น ทำงานบ้าน ทำงานเสร็จต้องรีบกลับไปให้นมลูก กลับไปทำกับข้าวให้สามี ก็หมดเวลาหมดแรงแล้ว จะให้ออกมาทำงานสหภาพอีก ยาก แรกๆ ทุกคนก็แอนตี้ ไม่เอาพนักงาน ผู้หญิงออกมา เราก็บอกว่า ไม่ได้ คุณต้องมีสักคนสิ พนักงานคุณมีเป็นพันคนเลย สมมุติพันนึง มีผู้หญิงตั้ง 700 คน ผู้ชายแค่ 300 คน คุณจะไม่มีสัดส่วนยื่นข้อเรียกร้องร่วมให้กับผู้หญิงเลยหรอ แรกๆ บางบริษัทไม่ส่งมาเลย เพราะไม่มีจริงๆ
อย่างไรก็ตาม อภันตรีและเครือข่ายสตรี TEAM ไม่ยอมแพ้ พวกเธอเดินหน้าเผยแพร่ความคิดเรื่องสหภาพและความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในสหภาพ โดยเขียนจดหมายขอความร่วมมือไปยังสหภาพต่างๆ ให้ส่งตัวแทนสมาชิกผู้หญิง จนทำให้เครือข่ายสตรี TEAM มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 12คน เป็น 30 คน พวกเธอจึงมีความมั่นใจมากขึ้นและของบประมาณจาก คสรท.มาจัดกิจกรรมอบรม
ในการจัดกิจกรรมอบรม อภันตรีได้เชิญนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักสหภาพที่มีประสบการณ์ และความรู้เรื่องคนทำงานหญิง มาแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับเครือข่าย โดยมีความรู้ตั้งแต่เรื่องสตรีนิยมพื้นฐาน สุขภาวะของผู้หญิง ทักษะการต่อรองแบบรวมกลุ่มกับนายจ้าง ตลอดจนการเขียนจดหมายถึงนายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากการอบรมเหล่านี้ทำให้เครือข่ายสตรี TEAM มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถนำความรู้ ทักษะเหล่านี้ไปฝึกใช้ได้จริงกับสมาชิกในสภาพแต่ละแห่งที่พวกเธอไปเยี่ยมเยือน
ความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี TEAM ส่งผลให้คสรท.ปรับแก้ธรรมนูญของสหภาพให้มีสัดส่วนผู้หญิงร้อยละ 30 ในกรรมการบริหารและให้มีตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศและเยาวชน 1 คน
นอกจากนี้ ความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรี TEAM ยังเปรียบเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดปัญหาการกดขี่ขูดรีดรูปแบบต่างๆ ของคนทำงานหญิงเข้ามาให้ช่วยเหลือจำนวนมาก อภันตรีเล่าให้ฟังว่า สมาชิกของสหภาพมองเครือข่ายสตรี TEAM ว่าเป็นกลุ่มของ
ปวีณา กลุ่มที่ดำเนินการโดยอดีตนักการเมืองหญิงชื่อ ปวีณา ที่มุ่งช่วยเหลือผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ
จนกระทั่งวันหนึ่ง เครือข่ายสตรี TEAM ได้รับจดหมายร้องเรียนจากคนทำงานหญิงที่ตั้งครรภ์และถูกเลิกจ้าง เครือข่ายสตรี TEAM จึงได้ลงพื้นที่ไปยังโรงงานดังกล่าว และพบว่าบริษัทมีการจ้างพนักงานจากบริษัทภายนอก (outsorcing) 3-4 บริษัท เมื่อบริษัทพบว่าพนักงานตั้งครรภ์ ได้ส่งกลับไปยังต้นสังกัด และก่อนจะถูกบริษัทเอ้าท์ซอสเลิกจ้าง ปัญหาดังกล่าวไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาพูดถึง เนื่องจากมองว่ามีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากทั้งประธานคสรท. นักสหภาพชายที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิคนทำงานหญิงมากขึ้น และจำนวนของตัวแทนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารสหภาพที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เครือข่ายสตรี TEAM สามารถรับมือกับปัญหาที่ท้าทายนี้ได้
อภันตรีค้นคว้าข้อมูลของประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคยุโรป และเอเชียว่ารับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร มีการให้สิทธิลาคลอดแก่คนทำงานอย่างไร ทั้งในแง่ของวันลาคลอดและเงินชดเชย ซึ่งทำให้เธอเห็นความเป็นไปได้ในการต่อสู้แก้ไขปัญหานี้ เธอได้ใช้ข้อมูลจากการค้นคว้าดังกล่าวมาเขียนเป็น “หลักการและเหตุผล” ในจดหมายร้องเรียนต่อนายจ้างเพื่อให้จดหมายมีน้ำหนักมากขึ้น ก่อนที่จะส่งจดหมายดังกล่าวไปยังสหภาพทุกแห่งที่เป็นสมาชิกของ TEAM ใน 7 จังหวัดเพื่อมอบให้กับบริษัท วิธีการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการแก้ไข ปรับปรุงนโยบายเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นแม่และผลประโยชน์ของคนทำงาน
นอกจากนี้ เครือข่ายสตรี TEAM ยังได้ใช้ประโยชน์จากสื่อ โดยการจัดทำละครเวทีและการเดินขบวนในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสตรีสากล เมย์เดย์ วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง วันงานที่มีคุณค่า เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิ และการคุ้มครองความเป็นแม่ของคนทำงานให้กับสาธารณชนและรัฐบาล
สำหรับการทำละครเวทีนั้น เกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายสตรี TEAM ได้ลงพื้นที่ยังโรงงานต่างๆ อภันตรีและกลุ่มพบว่าคนทำงานหญิงหลายคนต้องปั๊มนมในห้องน้ำที่สกปรกในช่วงพัก ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและผลกระทบต่อสุขภาพได้ เธอได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าวและนำมาจัดทำเป็นละครเวที ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาศัยการติดต่อประสานไปทางอาจารย์ที่เป็นเครือข่ายของเธอ ละครเวทีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชมและเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชมจำนวนมาก
เมื่อว่าวเริ่มติดลม บริษัทบางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายลาคลอดและมุมนมแม่เครือข่ายสตรี TEAM ไม่รอช้า พวกเธอประสานไปยังหน่วยงานของรัฐให้เข้ามามีส่วนร่วม อภันตรีได้ติดต่อกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาแนะนำเรื่องการจัดทำมุมนมแม่แก่บริษัทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสุขอนามัย
พี่ติดต่อไปทาง กระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาแนะนำหน่อยว่า ห้องๆนึงมุมนมแม่ควรที่จะมีอะไรบ้าง เช่น อุปกรณ์การปั๊มนม มันต้องมีอะไรบ้าง ต้องเช็ดเต้านมด้วยน้ำอุ่น ก็ต้องมีกาน้ำร้อน ปั๊มนมเสร็จก็จะเก็บต้องมีตู้ฟรีซเซอร์ ใส่ถุงซิป มีปากกาเขียนวันที่ ชื่อเอาไว้ พอจะเอากลับบ้านก็ต้องใส่กล่องดรายไอซ์กลับบ้าน เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมที่มีคุณภาพต่อ เพราะเด็กต้องได้กินนมแม่อย่างน้อย 1-6 เดือน ถ้า 1ปีขึ้นไปก็จะเยี่ยมยอดมาก
หลังจากนั้นเครือข่ายสตรี TEAM ยังได้มีการใช้งบประมาณของสหภาพในการบันทึก วิดีโอความสำเร็จของบริษัทที่สามารถปรับปรุงนโยบายลาคลอดได้ โดยให้คนทำงานสามารถลาคลอดได้ 182 วัน และจ่ายเงินเดือนให้เต็ม พร้อมกับจัดทำมุมนมแม่ในที่ทำงาน แล้วส่งวิดีโอดังกล่าวไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วิดีโอดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานรัฐและเกิดการสร้างเกณฑ์การให้รางวัลนายจ้างดีเด่นที่มีนโยบายวันลาคลอดแก่พนักงานที่ทำได้มากกว่าที่รัฐบาลทำ (90 วัน) และให้สวัสดิการต่างๆคุ้มครองสิทธิความเป็นแม่ ซึ่งรางวัลเหล่านี้ได้สร้างแรงจูงใจ และเกิดบรรยากาศของการแข่งภายในบริษัทในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
หลายๆบริษัทในเครือข่าย นายจ้างเค้าคุยกัน เค้าเหมือนว่า บริษัทนู้นมี บริษัทฉันต้องมีบ้าง ซึ่งมันก็ทำให้เค้าได้เป็นนายจ้างดีเด่นดับกระทรวงแรงงาน กับ พม (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ด้วย มันก็เกิดการแข่งขัน เพราะมันเป็นเรื่งของเชิงบวก ไม่ใช่เรื่องของเป็นภาพลบ สมมุติอย่างซัมมิท ในระยองไม่เคยคิดจะมีเรื่งของมุมนมแม่ แต่พอบริษัทเล็กๆมีเนี่ย แล้วซัมมิทใหญ่ขนาดนั้นคุฯจะไม่มีได้ไง เค้าก็หันมายกระดับ อย่างโตโยต้า ไม่เคยมีนมแม่ แต่พอบริษัทเล็กๆที่ทำส่วนอะไหล่ให้โตโยต้ามีมุมนมแม่ มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นแล้วโตโยต้าจะไม่ทำได้หรอ มันก็เกิดการแข็งขันทำสิ่งดีๆสู้สังคมด้วย มันก็มาจากพื้นฐานมาจากพวกเรา ผลักดันให้เกิดการขยายผล ในปี 63 บริษัทในสหภาพของเราไปรับโล่ 18 บริษัท เพราะมีวันลาคลอดกว่า 120 180 วันและทะยอยกันเพิ่มมากขึ้นในหลายบริษัท
จะเห็นได้ว่า เครือข่ายสตรี TEAM อาศัยยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบที่ดึงเอาตัวแสดงจากหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวผลักดันสิทธิและการคุ้มครองความเป็นแม่ให้กับคนทำงาน ทั้งนักสหภาพชายที่เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจในประเด็นของสิทธิของผู้หญิงมากขึ้นและสนับสนุนให้อภันตรีผลักดันเรื่องสัดส่วนผู้หญิงในกรรมการบริหารของสหภาพ จนบรรจุเข้าไปเป็นกฎของสหภาพว่าต้องมีตัวแทนผู้หญิงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในกรรมการบริหาร
การสร้างกลุ่มทำงานผู้หญิงที่เข้มแข็ง ที่ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักสหภาพอื่นๆ และการลงพื้นที่พบปะสมาชิกในโรงงาน การสืบค้นข้อมูลเรื่องนโยบายคุ้มครองสิทธิของแม่ในประเทศอื่น เพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนจดหมายเสนอนายจ้างที่มีหลักการมากขึ้น
นอกจากนี้ เครือข่ายสตรี TEAM ยังมีการใช้สื่อ ละครเวที และการเดินขบวนในวันพิเศษต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ในประเด็นดังกล่าวแก่สาธารณชนและรัฐในวงกว้าง รวมทั้งการดึงเอาภาคส่วนของรัฐในการสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้กับบริษัทในการปรับปรุงนโยบายเรื่องสวัสดิการและวันลาคลอด
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเผยแสดงให้เห็นการเปลี่ยนความไม่ลงรอยไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน และการให้พื้นที่และเสียงของผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ที่นำเป็นจุดก่อตัวสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
ศุภรดา เฟื่องฟู (ผักกาด) เจ้าหน้าที่สื่อสาร IUF ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ประจำประเทศไทย
by IUF Asia/Pacific | Feb 22, 2023 | ภาษาไทย Thai , Food Service Workers , Right to a Safe Workplace
แจสเปอร์ ดาลแมน ไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าในฟิลิปปินส์ วัย 19 ปี คือไรเดอร์คนแรกๆที่ก่อตั้งกลุ่มไรเดอร์ประจำเมืองคากายาน เด โอโร่ (Cagayan de Oro City) และไรเดอร์กลุ่มนี้เองคือจุดตั้งต้นของสหภาพไรเดอร์ประจำฟิลิปปินส์ในเวลาต่อมา (The United Riders of the Philippines) (ในความร่วมมือระหว่าง RIDERS-SENTRO-IUF)
แจสเปอร์ ร่วมจัดตั้งสหภาพไรเดอร์แห่งฟิลิปปินส์ และเข้าร่วมอบรมจัดตั้งสหภาพ ด้วยหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่ของไรเดอร์และครอบครัวของไรเดอร์จะดีขึ้น
บรรยากาศงานอบรมสหภาพครั้งนั้น เต็มไปด้วยความตื่นเต้น พลังร้อนแรงของคนรุ่นใหม่ ประเด็นวันนั้นมีทั้งความหวังที่ไรเดอร์จะได้ค่าแรงเพิ่มและงานไรเดอร์มีศักดิ์ศรี
แต่ประเด็นที่เน้นย้ำกันมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยของไรเดอร์ พวกเขาให้คำมั่นสัญญาระหว่างกันว่าจะต่อสู้ให้ได้ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุจากบริษัท
สำหรับแจสเปอร์ งานของเขาไม่ต่างไปจากไรเดอร์หลายล้านคนทั่วไป จักรยานและมอเตอร์ไซค์ คือที่ทำงานของไรเดอร์ คอยรับส่งผู้โดยสารและข้าวของอยู่ไม่หยุดหย่อน
เมื่อที่ทำงานคือพาหนะเคลื่อนที่ ที่ทำงานจะปลอดภัยได้ บริษัทอย่างฟู้ดแพนด้าต้อง ทำให้ระบบการทำงานที่อันตราย เคร่งเครียด และเสี่ยงภัยหมดไป โดยรับผิดชอบและตระหนักถึงสิทธิของไรเดอร์ สิทธิในการทำงานอย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แจสเปอร์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างทำงาน
ความตายของแจสเปอร์แสดงให้เห็นความเปราะบางของงานไรเดอร์ ไรเดอร์ทำงานภายใต้สภาวะอันตราย และเสี่ยงภัยมาก ถูกกดดันจากบริษัทที่รีดนาทาเร้นไรเดอร์เพื่อผลกำไรของตนอย่างไม่หยุดหย่อน (โดยอาศัยระบบอัลกอริทึ่มและการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม) ประกอบกับฝ่ายลูกค้าหรือผู้โดยสารที่มักจะเร่งรัดไรเดอร์อย่างไม่เห็นอกเห็นใจ บริษัทเดลิเวอรี่อย่างฟู้ดแพนด้า ปฏิเสธที่จะให้สวัสดิการประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุกับไรเดอร์ ประกันเหล่านี้สำคัญกับไรเดอร์อย่างยิ่ง
ที่ผ่านมาเมื่อไรเดอร์ได้รับบาดเจ็บขณะทำงาน พวกเขาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือบางครั้งอาจได้รับเงินชดเชยจากบริษัทบ้าง แต่ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ และกรณีของแจสเปอร์ที่เสียชีวิตขณะทำงาน ครอบครัวของเขาไม่ได้รับการชดเชยใดใดแม้แต่น้อย
ณ ที่นี้ เราไม่ขอกล่าวว่า แจสเปอร์จะไม่ตายฟรี หรือเปลี่ยนความตายของแจสเปอร์เป็นการเรียกร้องประกันอุบัติเหตุที่มีคุณภาพ หรือสร้างงานที่ปลอดภัย เราขอไม่กล่าวว่า เราจะบรรลุความหวังของแจสเปอร์ที่จะทำให้งานไรเดอร์มีคุณค่า มีเกียรติ
ณ ที่นี้ ความโศกเศร้าของเราท่วมท้น และคงเป็น ณ ที่อื่น ที่จะกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น
ณ ที่นี้ เราพูดได้เพียงว่า เราสูญเสียแจสเปอร์ ดาลแมน คนรุ่นใหม่ที่มีพลังจากสภาพการทำงานที่อันตราย จากกติกาไม่เป็นธรรมที่บริษัทเดลิเวอร์เหล่านี้สร้างขึ้น
ความตายของแจสเปอร์ ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นเหตุที่ป้องกันได้ หลีกเลี่ยงได้ และอุบัติขึ้นเพราะงานที่ไม่ปลอดภัย และเราต้องไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก
by IUF Asia/Pacific | Feb 16, 2023 | ภาษาไทย Thai , Women Unions & Power
2 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา เราได้ทราบข่าวการจากไปของ เอลา อาร์ บัตต์ (Ela R. Bhatt) ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้หญิงทำงานอิสระ (Self-Employed Women’s Association,SEWA) ในประเทศอินเดีย สหภาพแรงงาน IUF เอเชียแปซิฟิกและสมาชิกขอแสดงความเสียใจกับสมาคม SEWA มา ณ ที่นี้
ตลอดสามวันที่ผ่านมา สื่อกระแสหลัก องค์กรภาคประชาสังคม สหภาพแรงงานและโลกวิชาการได้
เผยแพร่บทความไว้อาลัยหลายพันชิ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่เอลาเบ็น โดยยกย่องเธอที่อุทิศชีวิตให้กับการทำงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้หญิง ซึ่งมีคุณูปการต่อการเคลื่อนไหวด้านสิทธิและการเสริมพลังผู้หญิงอย่างมาก
คำสอน คุณค่าและข้อแนะนำหลายประการของเอลาเบ็น ยังก้องกังวาลในใจผู้หญิงทั่วโลก ปัจจุบันข้อเรียกร้องของเธอมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำมาปรับใช้ภายใต้ภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ด้านอาหาร วิกฤติเศรษฐกิจโลก ตลอดจนโมงยามแห่งความหวาดหวั่นที่มาจากสงครามและความขัดแย้งรุนแรง เอลาเบ็นเรียกร้องให้ผู้หญิงมีบทบาทหลักในการร่วมสร้าง ร่วมกอบกู้ชุมชนท้องถิ่นของตน ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเชื่อมร้อยพลังของผู้หญิง ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสันติภาพเข้าไว้ด้วยกันได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและปราศจากความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้
นอกจากเอลาเบ็นจะอุทิศตนทำงานด้านสิทธิผู้หญิงแล้ว เรายังจดจำเธอในฐานะผู้จัดตั้งสหภาพคนทำงานหญิงอีกด้วย การทำงานของเธอสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากการปรับปรุงค่าแรงและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงด้วยการให้เข้าถึงทรัพยากรและการเป็นผู้ประกอบการแล้ว การเสริมพลังผู้หญิงจะสำเร็จได้ เราต้องสร้างอำนาจต่อรองแบบรวมกลุ่มอย่างแข็งขันให้กับคนทำงานหญิงในสหภาพอีกด้วย
อันที่จริงแล้ว จุดกำเนิดของสมาคม SEWA ไม่ได้เป็นการจัดตั้งองค์กรผู้หญิงทำงานที่บ้านหรืออาชีพนอกระบบเท่านั้น แต่คือการจัดตั้งสหภาพคนทำงานหญิง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนั้น เจ้าหน้าที่กรมแรงงานคัดค้านไม่ให้มีการจดทะเบียน SEWA เป็นสหภาพแรงงาน โดยเห็นว่าพวกเธอไม่ได้มีนายจ้างเป็นตัวเป็นตน แต่เอลาเบ็นโต้แย้งว่า SEWA จะเป็นสหภาพหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่ามีหรือไม่มีนายจ้าง แต่การเป็นสหภาพคือการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพของคนทำงานหญิง เพื่อสร้างตัวแทนและอำนาจอย่างเป็นกลุ่มก้อนให้กับพวกเธอ ในเวลาต่อมา SEWA จึงได้จดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2515
เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำคัญให้กับคนรุ่นใหม่หลายล้านคนที่กำลังประกอบอาชีพอิสระได้เป็นอย่างดี เอลาเบ็นทำให้เราเห็นว่า คนทำงานอิสระจะมีตัวแทนและอำนาจอย่างเป็นกลุ่มก้อนได้ จะต้องรวมตัวกันกัน และตระหนักเสมอว่าเรามีสิทธิและต้องอาศัยสิทธิดังกล่าวเพื่อจัดตั้งสหภาพคนทำงานของตัวเอง
นอกจากนี้ สหภาพ SEWA ยังชี้ให้เห็นถึงการสถาปนาอำนาจต่อรองให้กับผู้หญิงที่ทำงานอิสระเป็นครั้งแรก โดยในหมู่สมาชิกของเครือสหภาพ IUF นั้น สหภาพ SEWA ถือเป็นสหภาพคนทำงานหญิง ด้านยาสูบและด้านผลิตภัณฑ์จากนมที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการรวมตัวต่อรองราคารับซื้อ นอกจากนี้ จากการที่มีตัวแทนร่วมและพลังของสหภาพ SEWA ยังทำให้คนขายอาหารสามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ในการต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือคุณค่าและความทุ่มเทที่เอลาเบ็น ซึ่งได้เสริมพลังและสร้างความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในแบบที่เธอวาดหวังไว้ ดังที่เธอได้เขียนไว้ในเอกสาร SEWA Rashtriya Patrika ฉบับแรกประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ว่าการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงนี้เองที่ “ทำให้พวกเธอมีเสียง มีตัวตน และตอกย้ำคุณค่าของพวกเธอซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้หญิงอย่างยิ่ง”
เพื่อเป็นเกียรติแก่เอลาเบ็นที่มุ่งมั่นทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานเพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของคนทำงานหญิงและการเสริมพลังกลุ่มก้อนผู้หญิง สหภาพ IUF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขอสืบทอดเจตนารมณ์ของเธอ ส่งต่อแนวคิด งานเขียน องค์ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ของเอลาเบ็นไปยังผู้นำสหภาพแรงงานรุ่นใหมในภูมิภาคแห่งนี้ และย้ำเตือนบทเรียนที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเธอคือการออกไปพบปะ พูดคุย ใช้เวลาร่วมกับคนทำงานหญิง และสร้างความมั่นใจให้กับพวกเธอก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในกลุ่มของตัวเองให้ได้ คือเรื่องราวสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากเธอ
ภาพของเอลาเบ็นกับแม่ค้าขายผักในเมืองอาห์มาดาบัด หลังจากเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยชนะ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 โดยช่างภาพ ทอม พีทราซิค
by IUF Asia/Pacific | Feb 14, 2023 | ภาษาไทย Thai , Collective Bargaining Rights , Social Justice , Women Unions & Power
เป็นที่รู้กันดีว่า การคุ้มครองทางสังคม[1] (social protection) เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คนทำงานได้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตน ช่วยรับประกันว่าคนทำงานจะมีรายได้คงที่ และได้ทำงานที่มีความปลอดภัย
การคุ้มครองสังคมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะกับคนทำงานภาคการประมงขนาดเล็ก เกษตรกรรม เกษตรกรชายขอบ อาชีพอิสระ รวมทั้งผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม เมื่อคนทำงานเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะเปราะบางในทางกายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พวกเขาจะต้องการการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน สภาวะเปราะบางในมิติต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบก็จะทำให้พวกเขาเข้าถึงกลไกการคุ้มครองทางสังคมได้น้อยลง
ประเด็นเรื่องความเปราะบางและการเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมที่มีลักษณะผกผันเช่นนี้ พบได้ทั่วไปในคนทำงานหลากหลายสาขาอาชีพและภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลักฐานสนับสนุนว่า มักพบในคนทำงานอิสระและคนทำงานข้ามชาติ
อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหาดังกล่าวไม่ใช่การเรียกร้องให้เพิ่มการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้น เพราะในกรณีของคนทำงานภาคการประมงนั้น จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองทางสังคมเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องสิทธิ และกระบวนการจัดสรรทรัพยากรด้วย กล่าวคือ การให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่คนทำงานในภาคการประมง หรือ ภาคการเกษตรจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อพวกเขาได้เข้าถึงสิทธิ ได้รับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดสรรทรัพยากร
นอกจากนี้ การให้คนทำงานผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ก็ส่งผลให้การคุ้มครองทางสังคมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยลดปัญหาความยากจน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนทำงานอีกด้วย กล่าวคือ กระบวนการตัดสินใจนั้นต้องไม่เป็นไปโดยการให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในเชิงสัญลักษณ์หรือในลักษณะที่แน่นิ่ง (passive) เท่านั้น (เช่น การนำผู้หญิงมาเป็นเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคม) หรือนำเอาแต่มุมมองเรื่องเพศและมิติเรื่องเพศมาใช้เท่านั้น แต่ต้องให้ผู้หญิงได้เข้ามาร่วมกระบวนการด้วย ผู้หญิงจะต้องได้เข้าร่วมและได้นำเสนอความเห็น ปัญหาจากกลุ่มก้อนของตนเองไม่ว่าพวกเธอจะทำงานในสถานประกอบการหรืออาชีพใดก็ตาม ทั้งเรือกสวนไร่นา หรือในชุมชน และพวกเธอต้องได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ ตั้งแต่การวางแผน ไปจนถึงการนำหลักการหรือนโยบายปฏิบัติใช้ เพื่อให้การคุ้มครองทางสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาคอย่างแท้จริง
จึงกล่าวได้ว่าการคุ้มครองทางสังคมจะมีความหมายและประสิทธิภาพมากขึ้นก็ต่อเมื่อผู้หญิงได้มีส่วนรวมโดยตรง และได้นำเสนอเรื่องราวจากกลุ่มก้อนของตนเองในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรส่วนรวม การประเมินผลติดตาม รวมทั้ง การตรวจตราสอดส่องว่ามีความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมได้
ในทางกลับกัน หากกระบวนการตัดสินใจถูกครอบงำโดยผู้ชาย ความคุ้มครองทางสังคมมักจะมีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการจำกัดขอบเขตและการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติต่างๆ การใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมทั้งการทุจริต ซึ่งปัจจุบันปัญหาการทุจริตถือเป็นเรื่องแก้ไม่ตกที่บ่อนทำลายโครงการต่างๆ ของการคุ้มครองทางสังคมในประเทศภูมิภาคแถบนี้
นอกจากนี้ การสนับสนุนทรัพยากรแก่สถาบันต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างไม่เป็นระบบ ไม่มีความรับผิดชอบและไม่โปร่งใสให้ดำเนินการเรื่องการคุ้มครองทางสังคม มีแต่จะทำให้เกิดความล้มเหลวเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการให้ความคุ้มครองทางสังคม แต่ถึงที่สุดเราก็หนีไม่พ้นการกลับไปแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสถาบันอยู่ ซึ่งก็คือการให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงและนำเสนอประเด็นจากกลุ่มก้อนของตนในกระบวนการตัดสินใจ
ตัวอย่างสำคัญเห็นได้จากประเทศอินเดีย ที่มีการคุ้มครองทางสังคมทำงานภายใต้กฎหมายคุ้มครองการจ้างงานชนบทแห่งชาติ (National Rural Employment Guarantee Act, NREGA) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่เป็นเอกเทศ มีความเป็นประชาธิปไตย และจัดตั้งโดยกลุ่มผู้หญิง สหภาพเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ของกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงได้รับสิทธิต่างๆ จากกฎหมาย NREGA
ในขณะเดียวกันสหภาพแรงงานภายใต้การนำของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ก็จะดึงผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกฎหมาย เพื่อตรวจตราสอดส่องว่ามีการจัดสรรและกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
การที่ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นกลุ่มก้อนในกระบวนการตัดสินโดยตรง และ ได้นำเสนอเรื่องราวจากกลุ่มของตนนั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันของผู้หญิง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 (รวมทั้งอนุสัญญาที่สำคัญอย่างฉบับที่ 11 141 177 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการจัดตั้งกลุ่มหรือสหภาพ ของคนทำงานภาคเกษตร คนทำงานในชนบท และคนที่รับงานไปทำที่บ้าน) กล่าวคือ ผู้หญิงสามารถรวมตัวกันภายใต้กลุ่มก้อนหรือองค์กรที่พวกเธอเลือก และเคลื่อนไหวประเด็นที่กลุ่มตนสนใจ รวมทั้งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อรองและตัดสินใจต่างๆได้ หากมีการกีดกันเสรีภาพในการรวมกลุ่ม หรือขัดขวางกลุ่มผู้หญิงไม่ให้มีส่วนรวม ย่อมทำลายประสิทธิภาพของนโยบายและโครงการต่างๆ ของการคุ้มครองทางสังคม
การกีดกันหรือขัดขวางคนทำงานผู้หญิง คนทำงานภาคเกษตรและภาคประมงในการจัดตั้งกลุ่มก้อนของตนเองยังทำให้ผู้หญิงมีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การคุ้มครองทางสังคมไม่ทั่วถึงและเปล่าประโยชน์
นอกจากนี้เรายังไม่ควรจัดสรรทรัพยากรและการคุ้มครองทางสังคมแก่อุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะคนทำงานในภาคประมง ทั้งที่อยู่บนเรือและในโรงงานล้วนได้รับค่าแรงยากจน[2] (poverty wage) ซึ่งมีแต่จะหล่อเลี้ยงให้พวกเขาและชุมชนยากจนต่อไปเท่านั้น โดยชุมชนชาวประมงเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่บริเวณที่ตั้งของแหล่งหาปลาเชิงพาณิชย์
จากการประชุมสภาชาวประมงระดับชาติของฟิลิปินส์ครั้งที่ 4 ในวันที่ 3 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาได้มีการเสนอวิธีการสร้างอำนาจให้กับชาวประมง ซึ่งสัมพันธ์กับการทำอุตสาหกรรมการประมงแบบยั่งยืน การประชุมดังกล่าววิเคราะห์ว่า ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการขาดการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน (การเข้าถึงอาหาร โภชนาการ ที่พักอาศัย การศึกษา และการให้บริการสุขภาพ) เป็นผลพวงโดยตรงจากค่าแรงยากจนที่มาจากภาคส่วนอุตสาหกรรมการประมงเชิงพาณิชย์
นายจ้างจากอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์เหล่านี้ มักจะขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงานและละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มและรวมตัวต่อรองของคนทำงาน ซึ่งเป็นหลักการในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 นายจ้างเหล่านี้เองเป็นตัวการสำคัญที่ขัดขวางคนทำงานประมงไม่ให้สามารถรวมตัวเพื่อต่อรองเรื่องค่าแรง ทั้งที่การเพิ่มค่าแรงจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเขาและครอบครัวให้พ้นจากความจนได้
ในการบรรลุเป้าหมายที่ให้คนทำงานได้มีค่าแรงที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องให้ความสำคัญกับการรวมตัวต่อรอง (collective bargaining) ของคนทำงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ รัฐบาลไม่ควรให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กดขี่สิทธิคนทำงานในด้านต่างๆ และหล่อเลี้ยงวงจรความยากจนเอาไว้
นอกจากนี้ เรายังจะเห็นอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ ละเมิดสิทธิเรื่องการทำงานอย่างปลอดภัยร้ายแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานนานาชาติฉบับที่ 155 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ในการประชุมสภาชาวประมงครั้งที่ 4 ที่ประเทศฟิลิปินส์ สมาชิกของชุมชนชาวประมงหลายคนได้เล่าถึงการอาการบาดเจ็บร้ายแรงต่างๆที่เกิดจากการทำงานที่ไม่ปลอดภัยของอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์
การทำงานที่ไม่มีความปลอดภัยเหล่านี้ส่งผลให้คนทำงานบาดเจ็บ และป่วยไข้โดยโรคต่างๆในระยะยาวได้ ตลอดจนเหตุทุพลภาพที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำงานได้ และสุดท้ายก็กลายเป็นภาระหนักให้กับโครงการการคุ้มครองทางสังคมอีก
ตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญเห็นได้จาก สหภาพคนทำงานประมง BKMU ในประเทศมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นสมาชิกของเรา กล่าวคือ ก่อนหน้านี้สหภาพดังกล่าวมีความสามารถในการต่อรองราคารับซื้อสัตว์ทะเล ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตตนครอบครัวและชุมชน รวมทั้งคนทำงานข้ามชาติที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประเทศมัลดีฟส์ชุดก่อนหน้าได้ประกาศใช้กฎหมายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ฉบับใหม่ กฎหมายดังกล่าวได้คุกคามสิทธิและเสรีภาพในการจัดตั้งและรวมตัวต่อรองของสหภาพ ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สหภาพขาดอำนาจในการรวมกลุ่มต่อรอง และเกิดการผูกขาดการรับซื้อสัตว์ทะเลไว้กับบริษัทเพียงแห่งเดียว ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวสามารถกำหนดราคารับซื้อได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้รายได้ของสมาชิกสหภาพ BKMU ลดลง และชุมชนที่มีรายหลักจากการทำประมงยากจนขึ้น และเกิดปัญหาหนี้สินมากขึ้น
ฉะนั้นแล้ว การคุ้มครองทางสังคมจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือ การให้ชาวประมงที่ทำงานในประมงพาณิชย์มีสิทธิรวมกลุ่มต่อรอง เพื่อกระจายผลกำไรของบริษัทมายังพวกเขา ไม่ใช่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐผ่านการคุ้มครองทางสังคมแต่เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองทางสังคม ยังมีความจำเป็นในการนำไปใช้ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงขนาดเล็ก คนทำงานอิสระ และคนที่รับงานไปทำที่บ้าน รวมทั้งชุมชนจับสัตว์ทะเลที่อาศัยตามชายฝั่งที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาเรื่องแรงงานเด็กในการประมงพื้นบ้านและการจับสัตว์ทะเลที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอีกด้วย
นอกจากนี้ ในการสร้างการคุ้มครองทางสังคมให้เกิดประสิทธิภาพ จะต้องพิจารณาประเด็นเรื่องความเปราะบางของชุมชนจับสัตว์ทะเลที่อาศัยตามชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเล และ การลดลงของจำนวนพันธ์ุสัตว์ทะเล ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาค ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตและรายได้ของชาวประมง รวมทั้งความมั่นคงทางอาหารทะเล
อาจกล่าวได้ว่า การคุ้มครองทางสังคมจะเกิดประสิทธิภาพ จะต้องผนวกประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ มาไว้ในนโยบายและแผนปฏิบัติงานอย่างรอบด้านและอย่างเป็นระบบ ในเรื่องสิทธินั้น จะต้องควบรวมไปถึงเรื่องสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกลุ่มชาวประมง และสิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารและโภชนาการ โดยรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชีวิตของชาวประมงอย่างจริงจังร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมักจะให้เงินอุดหนุนรวมทั้งกระจายทรัพยากรไปยังการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่
มลพิษจากอุตสาหกรรม
ความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงสากล (distant water fishing, DWF) ซึ่งการประมงสากลนั้นส่งผลต่อการลดลงของจำนวนสัตว์ทะเล ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการจับสัตว์ทะเลต่อทั้งมหาสมุทร ในแง่นี้การประมงสากลจึงคุกคามวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาวประมง หากปัญหาการอุดหนุนเงินของรัฐให้กับการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่และการประมงสากลเหล่านี้ยังไม่ถูกพูดถึง จะทำให้ชุมชนชาวประมงตามชายฝั่งเกิดปัญหาความยากจน หนี้สิน และความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนประมงพื้นบ้านต่างๆ และชาวประมงชาติพันธุ์ สุดท้ายก็จะทำให้พวกเขาต้องการการคุ้มครองทางสังคมเพิ่มมากขึ้น (อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ฉะนั้นแล้ว ประสิทธิภาพของการคุ้มครองทางสังคมจะถูกทำลาย หากรัฐบาลยังมีการอุดหนุนเงินและทรัพยากรให้กับอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์เหล่านี้
ด้วยเหตุนี้เอง หากต้องการให้การคุ้มครองทางสังคมมี “การเปลี่ยนแปลงสีคราม”[3] (blue transformation) ในภาคส่วนการประมงอย่างเสมอภาค จะต้องมีการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมใหม่และตระหนักถึงสิทธิคนทำงานด้วย
ฉะนั้นแล้ว เราไม่ต้องการให้รัฐเพิ่มกองทุนการคุ้มครองทางสังคมเท่านั้น แต่เราต้องการให้รัฐหยุดอุดหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ รายได้ และความมั่นคงทางอาหาร อีกด้วย นอกจากนี้ เราต้องการให้การคุ้มครองทางสังคมให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมมากขึ้น โดยลดการอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ดูดกลืนและทำลายทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ เพิ่มการจัดเก็บภาษีบริษัทเหล่านี้และภาษีคนรวยให้มากขึ้น
สุดท้ายแล้วจะเห็นได้ว่า การคุ้มครองทางสังคมจะเกิดได้ จะต้องมาจากการกระจายความมั่งคั่งร่วมด้วย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เสมอภาคและยั่งยืนอย่างแท้จริง
ผู้หญิงในภาคส่วนงานอิสระต้องการการคุ้มครองทางสังคม แต่ก็ต้องได้รับสิทธิในการรวมตัวนำเสนอประเด็นของพวกเธอเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการคุ้มครองทางสังคมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค
ผู้หญิงในงานอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มและรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เพื่อยกระดับชีวิตของตน ครอบครัว และชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้
การประมงพาณิชย์ต้องให้สิทธิกับคนทำงานและสหภาพแรงงาน รวมทั้งต้องมีวิธีการจับปลาแบบยั่งยืน ไม่ใช่รับเงินอุดหนุนหรือการคุ้มครองทางสังคม
[1] การคุ้มครองทางสังคม หมายถึง การจัดระบบหรือมาตรการรูปแบบต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ ไม่ว่าจะเป็นบริการสังคม การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคม ปัจจุบันปประเทศไทยมีระบบความคุ้มครองทางสังคม 2 รูปแบบ ได้แก่ สวัสดิการทางสังคม เช่น เช่น การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน บัตรประชารัฐ บัตรสงเคราะห์ต่างๆ และ ประกันสังคม
[2] ค่าแรงยากจน (poverty wage) คือ ค่าแรงที่มีมูลค่าไม่เพียงพอแก่ค่าครองชีพและความต้องการพื้นฐานของปัจเจกบุคคลในชีวิตประจำวัน และการอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้คนทำงานอาจงานนอกเวลา รับงานเสริม เกิดหนี้สิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ และชีวิตสมาชิกในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในชีวิต การคำนวนค่าแรงยากจน ค่าแรงยากจนสามารถคำนวนได้จากดูว่าค่าแรงที่ได้รับต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนหรือไม่
ค่าแรงยากจนสามารถประเมินได้ คือค่าแรงที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการแบ่งแยกคนจนและคนไม่จนออกจากกัน เพื่อรัฐบาลจะได้หานโยบายช่วยเหลือได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย โดยบุคคลที่ดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนจน ในปี 2558 เส้นความยากจน มีค่าเท่ากับ 2,644 บาท ต่อคน ต่อเดือนเดือน อย่างไรก็ตามเกณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงว่า ไม่สามารถประเมินได้อย่างแม่นยำนัก
[3] การเปลี่ยนแปลงสีคราม (blue transformation) เป็นวิสัยทัศน์หนึ่งจากองค์การสหประชาชาติ ในส่วนงานของอาหารและเกษตรกรรม ที่มุ่งหมายให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรและระบบอาหารจากท้องทะเลอย่างเท่าเทียม โดยกระจายโอกาสให้กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคมได้เข้าถึงอาหารทะเลที่มีโภชนาการและราคาจับต้องได้ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกลุ่มและชุมชนชาวประมงให้สามารถทำการประมงและการเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และสิ่งแวดล้อมทางทะเลไปด้วย
by IUF Asia/Pacific | Feb 9, 2023 | ภาษาไทย Thai , Defending Democracy , Human Rights
“ถ้าคุณไม่รู้สึกโกรธ แสดงว่าคุณยังไม่ใส่ใจมากพอ!”
สำนวนดังกล่าวเหมาะสมอย่างยิ่งกับประชาคมนานาชาติที่ไม่กระตือรือร้นในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ปราบปรามประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายในประเทศพม่าในปัจจุบัน ทั้งที่นักข่าวและนักปกป้องสิทธิได้ผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่ประชาคมโลกนอกประเทศพม่ากลับไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นวันครบรอบ 2 ปีของการรัฐประหารในพม่า ประชาชนพม่าได้ร่วมกันประท้วงเงียบทั้งประเทศ ส่งผลให้ถนนหนทางและบ้านเมืองเงียบเชียบว่างร้าง ประชาชนที่ร่วมประท้วงมาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ภาษา และพื้นที่พักอาศัย ทั้งในเมืองและชนบท พวกเขาต่างร่วมประท้วงกร้าวด้วยความเงียบ หลบซ่อนตัวอย่างเปิดเผย
ช่างเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งที่ประชาคมนานาชาติกลับไม่ตอบสนองใดใดต่อความกล้าหาญดังกล่าวของประชาชนพม่าจากขอบเขตอำนาจของตน แทนที่ประชาคมนานาชาติจะส่งเสียง ร่วมประณามบริษัทที่ทำการค้าการลงทุน ซึ่งหล่อเลี้ยงกองทัพพม่าและสภาบริหารแห่งรัฐของพม่า (State Administration Council,SAC ) ที่ขาดความชอบธรรมและกระทำการผิดกฎหมาย ประชาคมนานาชาติกลับเพิกเฉยด้วยความเงียบครั้งแล้วครั้งเล่า
แม้ว่าประชาคมนานาชาติอาจจะไม่เข้าใจความหมายที่สำคัญของการประท้วงเงียบอันกล้าหาญในวันที่ 1 กุมภาที่ผ่านมา แต่ทว่าสภาบริหารแห่งรัฐพม่ารู้ซึ้งเป็นอย่างดี ความเงียบที่ระงมไปทั่วทั้งประเทศนั้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากกองทัพติดอาวุธ กลุ่มอันธพาลเริงเมือง และเหล่าพันธมิตรนักธุรกิจแล้ว สภาบริหารแห่งรัฐจากเผด็จการพม่าไม่ได้มีอำนาจหรือความชอบธรรมใดใดในสายตาของประชาชนพม่าแม้แต่น้อย
การประท้วงเงียบนี้ส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการวิตกจริตและขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการใช้ความรุนแรงกับนักกิจกรรมประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิต่าง ๆ ระลอกคลื่นของการกวาดล้าง ปราบปราม และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง
เผด็จการทหารเคลื่อนขบวนฉลองที่น่าอนาถไปตามท้องถนนว่างเปล่า แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอมากกว่าความเกรียงไกร
นอกจากนี้ เผด็จการทหารพม่ายังได้รู้ซึ้งว่าการประท้วงเงียบโดยถ้วนหน้าของประชาชนนี้ สามารถนำไปสู่การบ่อนทำลายแผนการเลือกตั้งบังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 ได้
เป้าหมายของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็เพื่อแสดงให้ประชาคมนานาชาติเห็นว่าประเทศพม่ากำลังมี “กระบวนการกลับคืนสู่” ประชาธิปไตย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลหลายๆประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปให้กลับมาทำการค้ากับสภาบริหารแห่งรัฐอีกครั้ง ฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้จึงเป็นภาพฝันของเผด็จการทหารว่าจะช่วยผ่อนปรนการคว่ำบาตร และภาวะชะงักความมั่งคั่งของหัวหน้ากองทัพให้กลับคืนสู่ “การทำธุรกิจอย่างเป็นปกติ”
อย่างไรก็ตาม การประท้วงเงียบที่เกิดขึ้นได้ทลายภาพฝันลงสิ้น มีแนวโน้มว่าประชาชนจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งบังหน้าครั้งนี้อย่างราบคาบ เผด็จการทหารจึงได้เพิ่มมาตรการปราบปรามประชาชนอย่างเข้มงวดขึ้นอีก
ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมนานาชาติต้องลุกขึ้นมาตอบสนองกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยการประณามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในฐานะการกระทำหลอกลวงที่ผิดกฎหมาย และต้องต่อต้านการให้ความชอบธรรมกับสภาบริหารแห่งรัฐที่มาจากกองทัพพม่า และลิ่วล้อนักธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพทั้งหมด
ประชาคมนานาชาติต้องสนับสนุนและให้การยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (National Unity Government,NUG) ในฐานะที่เป็นรัฐบาลจากประชาชนที่มีความชอบธรรม การสนับสนุนนั้นทำได้โดยการกดดันและส่งเสริมให้รัฐบาลของท่านช่วยเหลือ ยอมรับ และสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับในแง่การฑูต หรือในการทำงานของแต่ละภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ
หากท่านใส่ใจและโกรธแค้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ขอให้ท่านกดดันและท้าทายรัฐบาลมือถือสากปากถือศีลในประเทศของท่านที่อ้างว่าสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า แต่กลับยอมให้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับประเทศพม่าอยู่ ซึ่งการติดต่อค้าขายเหล่านี้เป็นการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ “ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดนอกจากความผิดพลาด”
หากกระทรวงการต่างประเทศของท่านยอมรับ “กระบวนการกลับคืนสู่” ประชาธิปไตย ดังที่รัฐบาลเผด็จการกล่าวอ้าง ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่มีวันเกิดขึ้น มีเพียงการแลกเปลี่ยนค้าขายกับพันธมิตรของกองทัพเท่านั้นที่จะเกิด
นอกจากนี้ เราไม่สามารถเอาประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของประชาชนพม่ามาเป็นตัวประกันให้กับ “ยุทธศาสตร์” ในการขยายระยะเวลาของสงครามในยูเครน หรือมาใช้ในการต่อรองเรื่องความจำเป็นทางพลังงาน หรือความมั่นคงทางอาหารได้ เพราะเกษตรกรและคนทำงานในไร่นาต่างเข้าร่วมการประท้วงเงียบเช่นกัน เหตุใดสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆยังคงนำเข้าข้าวและผลผลิตทางการเกษตรจากพม่าอยู่อีก เหตุใดพวกเขายังคงทำให้วิกฤตการณ์ทางมนุษยชาติเช่นนี้ “เป็นเรื่องปกติสามัญ”
การกระทำหรือความพยายามใดก็ตามที่มาจากกระทรวงหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่ยังคงทำการค้าขายลงทุนกับประเทศพม่าล้วนเป็นการชี้นำให้เกิดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหมายถึงเป็นการก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น
1 กุมภาพันธ์ 2566 ประชาชนพม่าทั้งประเทศส่งเสียงผ่านความเงียบมาแก่เราแล้ว เราต้องขานรับ เป็นเดือดเป็นร้อน และลุกขึ้นมาสนับสนุน