แนวปฏิบัติ OECD ของบรรษัทข้ามชาติ ในส่วนของการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ มีการอัพเดทเนื้อหาเพิ่มเติมในปี 2023  โดยเน้นหนักในเรื่องหน้าที่ของบริษัทที่ต้องเคารพสิทธิคนทำงานรวมกลุ่มได้อย่างเสรี ซึ่งได้เพิ่มเติมประเด็นสำคัญว่าบรรษัทข้ามชาติต้องเคารพสิทธิคนทำงานอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ แนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บทที่ 5 เรื่องการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ วรรค 1 ระบุว่า

  1. เคารพสิทธิคนทำงานที่ได้รับการว่าจ้างโดยบรรษัทข้ามชาติ ให้พวกเขาก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และ เป็นตัวแทนองค์กรที่พวกเขาเลือก

ปัจจุบันในปี 2023 มีการเพิ่มเติมเนื้อหา โดยระบุว่า

  1. เคารพสิทธิคนทำงานในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และเป็นตัวแทนองค์กรที่พวกเขาเลือก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการตัดสินใจของคนทำงานในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงานหรือเป็นตัวแทนองค์กรที่พวกเขาเลือก

การเพิ่มเติมแก้ไขเนื้อหาดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าเคารพสิทธิคนทำงานในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพที่พวกเขาเลือก แต่กลับอนุญาตให้ฝ่ายบริหารในประเทศ หรือ ในท้องถิ่นแทรกแซงการใช้สิทธิดังกล่าวของคนทำงาน

การแทรกแซงของฝ่ายบริหารเกิดขึ้นหลายลักษณะในสถานประกอบการ โดยเป็นการบังคับให้คนทำงานต้องกลับไปคิดทบทวนถึงการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพของพวกเขา บ่อยครั้งฝ่ายบริหารมักจะอ้างว่า ตนแค่ให้ “คำแนะนำ” แก่ลูกจ้างเท่านั้น หรือลูกจ้างเข้ามาขอคำแนะนำ ฝ่ายบริหารยังมักอ้างว่าพวกเขา “แค่ถาม” ลูกจ้างเกี่ยวกับสหภาพเท่านั้น

การให้ “คำแนะนำ” หรือ “แค่ถาม” ถือเป็นการแทรกแซงและการละเมิดสิทธิคนทำงานที่จะได้เลือกอย่างอิสระ เสรีภาพในการเลือกหรือเข้าร่วมสหภาพมีนัยยะว่าคนทำงานสามารถตัดสินใจได้โดยเป็นอิสระจากการแทรกแซง หรืออิทธิพลของฝ่ายบริหารรูปแบบต่างๆ ดังนั้นฝ่ายบริหารต้องวางตัวเป็นกลาง และไม่ส่งอิทธิพลต่อการเลือกของคนทำงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสหภาพแรงงานของ OECD  (TUAC) ได้ให้ตัวอย่างของการกระทำหรือคำพูดที่ถือเป็น “การแทรกแซงการตัดสินใจของคนทำงานในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน” ดังต่อไปนี้

  • การบอกคนทำงานว่าพวกเขาเป็น “ทีมงาน” หรือ “ครอบครัวเดียวกัน” จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนหรือมีการยื่นข้อเรียกร้องร่วม
  • ดูถูกหรือด้อยค่าสหภาพแรงงาน ในการหาตัวแทนเพื่อดำเนินการเจรจาต่อรองร่วม
  • แสดงข้อความหรือการกระทำใดใดที่ชี้นำให้คนทำงานคิดว่างานและรายได้ของพวกเขาจะเปลี่ยนไป หากเข้าร่วมหรือก่อตั้งสหภาพ
  • สร้างการรับรู้ว่าแนวปฏิบัติ OECD จะไม่ถูกนำมาใช้ในสถานประกอบการ ดังนั้นคนทำงานจะไม่ได้รับประโยชน์ใดจากแนวปฏิบัติดังกล่าว
  • ฟ้องร้องคนทำงาน ใช้อำนาจศาลในการปฏิเสธหรือถ่วงเวลาการตัดสินใจเรื่องการมีตัวแทน

การกระทำใดที่มีลักษณะข้างต้นถือว่ามีแนวโน้มจะนำไปสู่การละเมิดหลักการ OECD ได้ทั้งสิ้น

การกระทำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอย่างข้างต้นถือเป็นการบ่อนเซาะสิทธิระหว่างประเทศ ว่าด้วยการสมาคมอย่างเสรีและสิทธิในการจัดตั้ง ซึ่งเป็นหลักปฏิญญาสากลที่  87 และ 98 ขององค์การแรงงานสากล อันเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐบาลทุกประเทศ นายจ้างทุกคน ต้องปฏิบัติตตาม หมายความว่าเป็นหน้าที่ที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติตาม โดยเคารพสิทธิของคนทำงานในการรวมกลุ่มได้อย่างเสรีและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรของคน ถือเป็นระเบียบปฏิบัติ มิใช่ความสมัครใจ